หน้าแรก news นักวิชาการ ยกหลักสากล ชี้ ระบบหนึ่งพรรคหลายเบอร์ ยิ่งต้องมีชื่อพรรคและโลโก้บนบัตรเลือกตั้ง

นักวิชาการ ยกหลักสากล ชี้ ระบบหนึ่งพรรคหลายเบอร์ ยิ่งต้องมีชื่อพรรคและโลโก้บนบัตรเลือกตั้ง

0
นักวิชาการ ยกหลักสากล ชี้ ระบบหนึ่งพรรคหลายเบอร์ ยิ่งต้องมีชื่อพรรคและโลโก้บนบัตรเลือกตั้ง
Sharing

รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการเรียกร้องให้บัตรเลือกตั้งมีโลโก้ และชื่อพรรคการเมืองว่า  ตั้งอยู่บนหลักการ “สิทธิที่คะแนนเสียงจะถูกนับตรงตามเจตจำนงของผู้เลือกตั้ง”

ในประเทศไทย เมื่อผู้ออกเสียงเข้าไปในคูหาเลือกตั้งแล้ว บัตรเลือกตั้งเป็นเครื่องมือสื่อสารเดียวที่มีอยู่ เพื่อแสดงความมุ่งหมายในการเลือกตัวแทน

การเลือกตั้งครั้งนี้ บัตรใบเดียว เลือกทั้ง ส.ส. พรรคการเมือง และ ผู้ที่พรรคการเมืองเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี การให้มีเพียงเลขประจำตัวของผู้สมัคร อาจทำให้ผู้ลงคะแนนที่ชั่งใจระหว่าง จะเลือก ส.ส. หรือ เลือกพรรค หรือ ว่าที่นายกรัฐมนตรี สับสน จำผิด และลงเอยด้วยการกาหมายเลขผิดได้

หากกาผิด บัตรเลือกตั้งนั้นจะไม่ถูกนับเป็นบัตรเสีย แต่จะกลายเป็นบัตรที่เลือกผู้สมัครคนอื่น พรรคอื่น และว่าที่นายกรัฐมนตรีคนอื่น ที่ไม่เป็นไปตามความประสงค์ของผู้เลือก

ที่สำคัญ การกำหนดให้ผู้สมัครของพรรคการเมืองเดียวกัน อยู่คนละเขต มีคนละเบอร์ อาจส่งผลให้ผู้ออกเสียงจำเบอร์ผู้สมัครหรือพรรคที่ตนประสงค์จะเลือกผิด

มาตรการให้พรรคในแต่ละเขตมีคนละเบอร์ ยิ่งตอกย้ำความจำเป็นต้องมีโลโก้และชื่อพรรค บนบัตรเลือกตั้ง

นอกจากบัตรเลือกตั้งในหลายประเทศจะให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจ เช่น โลโก้พรรค ชื่อพรรค เบอร์ ภาพ และที่อยู่ผู้สมัคร ตามที่เห็นในข่าวแล้ว หลายแห่งยังติดรายชื่อผู้สมัคร และพรรคการเมือง ไว้ด้านในคูหาเลือกตั้ง (ในประเทศไทย ตั้งไว้ด้านนอกก่อนเข้าคูหา ในบางประเทศมีทั้งด้านนอกและด้านใน) เพื่อให้ผู้ออกเสียงเลือกตั้งตรวจสอบก่อนกาบัตร สร้างความมั่นใจว่าได้ลงคะแนนตรงตามความตั้งใจของตนจริง ๆ

เมื่อสังคมไทยปรับทัศนคติว่า การเลือกตั้งเป็นโอกาสให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะให้ใครบริหารประเทศ ผ่านการแข่งขันที่โปร่งใส เท่าเทียม เป็นธรรมระหว่างนักการเมืองและพรรคการเมือง แทนการมองว่าการเลือกตั้งเป็นเพียงพิธีกรรมทางการเมือง การสร้างข้อจำกัดมากมาย จะยิ่งถูกต่อต้าน และร้องเรียน

เมื่อนั้น กฎ กติกา จะเป็นไปเพื่ออำนวยความสะดวก และให้ผู้เลือกตั้งมีข้อมูลมากที่สุดต่อการตัดสินใจ และ กกต. มีหน้าที่พื้นฐานในการสร้างหลักประกันว่าสิทธิของผู้เลือกตั้งข้อนี้จะได้รับการรับรอง

สิทธิของผู้ออกเสียงเลือกตั้ง (VOTER’S BILL OF RIGHTS ตามหลักสากล)
1. สิทธิที่คะแนนเสียงของตนจะถูกนับอย่างถูกต้อง ตรงตามความประสงค์ของผู้เลือก
2. ถึงแม้ได้เวลาปิดคูหา แต่หากยังรออยู่ในแถว ย่อมต้องมีสิทธิลงคะแนน
3. สามารถขอรับความช่วยเหลือ จากเจ้าหน้าที่ หรือผู้ได้รับมอบหมาย ระหว่างลงคะแนนได้
4. ไม่ถูกชี้นำ คุกคาม หรือ ทำให้เกรงกลัว โดยบุคคลอื่นใด
5. ลงคะแนน ภายใต้กฎ กติกา และเงื่อนไข ที่เอื้อให้ผู้ลงคะแนนแสดงเจตจำนงได้ตรงความต้องการ

หน้าที่ของผู้ออกเสียงเลือกตั้ง (VOTER’S RESPONSIBILITY)
1. ทำความคุ้นเคยกับผู้สมัคร พรรคการเมือง จุดยืน และประเด็นทางการเมือง
2. ตรวจสอบที่อยู่ และสิทธิในการเลือกตั้งของตน
3. รู้ว่าจะต้องไปออกเสียงที่หน่วยไหน และรู้ที่ตั้งของหน่วยเลือกตั้ง
4. หากพบเจอพฤติกรรมที่ขัดต่อกฎหมายเลือกตั้ง ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ และรายงานตามช่องทางที่เปิดรับ
5. ก่อนออกจากคูหาเลือกตั้ง ตรวจสอบให้มั่นใจว่าได้ลงคะแนนตรงตามความประสงค์ที่แท้จริงของตน


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่