หน้าแรก news “ธีรยุทธ” ชี้ หมดยุคการเมือง “สุดโต่ง”

“ธีรยุทธ” ชี้ หมดยุคการเมือง “สุดโต่ง”

0
“ธีรยุทธ” ชี้ หมดยุคการเมือง “สุดโต่ง”
Sharing

นายธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการอิสระ กล่าวปาฐกถา “45 ปี 14 ตุลา”ครั้งที่ 4 ในหัวข้อ “มองประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง ปัญหาที่ใหญ่กว่าวิกฤตการเมือง” โดยระบุตอนหนึ่ง ว่า สำหรับความขัดแย้ง “เหลือง-แดง” “นปช.-กปปส.” ในปัจจุบัน ถือว่าเป็นภาวะปกติแล้ว ไม่จำเป็นต้องเรียกร้องให้แต่ละฝ่ายเปลี่ยนจุดยืน อุดมการณ์ เพราะเวลาและสถานการณ์ จะช่วยให้มีการปรับตัวให้ระบอบการเมืองดำเนินไปตามสภาพเหมือนเดิมได้ ดังนั้น การเลือกตั้งครั้งหน้า คาดว่า ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย จะไม่มีใครใช้วาทกรรม และนโยบายสุดขั้วมาหาเสียง เพราะถ้าหากใช้วาทกรรมสุดขั้วมาหาเสียง พรรคที่จะโกยคะแนนคือพลังประชารัฐ

“ในแนวคิดแตกต่างอย่างปกติ มีคำขวัญว่า แตกต่างแต่ไม่แตกแยก ต้องขยายความว่า แตกต่างแต่แค่ถกเถียง ถกเถียง แต่ไม่ทะเลาะ ทะเลาะ แต่ไม่ต่อสู้ ต่อสู้แต่ไม่แตกหัก”

นายธีระยุทธกล่าวด้วยว่า เวลานี้มีวิกฤตใหม่ คือ วิกฤตที่เกิดจากความพยายามของกลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดที่จะสถาปนาอำนาจของตนเอง โดยในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ที่บ้านเมืองวุ่นวาย มีการก่อตัวของกลุ่มทุนใหญ่เกิดขึ้นประมาณ 10 กลุ่ม มีอิทธิพลครอบงำเศรษฐกิจสำคัญไว้ได้เกือบทั้งหมด และมักจะเข้าไปมีอิทธิพลครอบงำการเมือง จนเกิดศัพท์เฉพาะที่เรียกว่า การปกครองใต้อำนาจโดยตรงหรืออ้อมของคนกลุ่มน้อย คือ ทุนอิทธิพล โดยสามารถโน้มน้าว จูงใจ หรือบังคับให้รัฐ พรรคการเมือง ข้าราชการ สื่อ สังคม คล้อยตามได้

ทั้งนี้ ตนเห็นว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งใจสืบทอดอำนาจมานานแล้ว เห็นได้ชัดตั้งแต่การล้มร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ และคณะ เป็นผู้ร่าง มาเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับในปัจจุบัน โดยให้พรรคการเมือง มีสิทธิเสนอชื่อคนนอกเป็นนายกฯ เพิ่มทั้งจำนวน และอำนาจของส.ว. โดยมี 250 คน และให้สิทธิ์เลือกนายกรัฐมนตรีได้ การดึงกลุ่มการเมือง “ยี้-มาร” มารวมเป็นพรรคพลังประชารัฐ โดยไม่สนเสียงวิจารณ์ ถือเป็นการการันตีว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป

“พล.อ.ประยุทธ์ คงจะจัดตั้งรัฐบาลหน้าขึ้นได้ แต่ความชอบธรรม จะต่ำ เพราะรูปแบบการประสานประโยชน์ระหว่าง พลังทหาร ข้าราชการ กลุ่มอนุรักษ์ และกลุ่มทุนใหญ่ ปรากฏชัดเจนเรื่อยๆ คสช.ทำลายความน่าเชื่อถือขององค์กรอิสระ ปิดกั้นการตรวจสอบ ซึ่งพฤติกรรมก็ไม่ต่างไปจากระบอบทักษิณในอดีต คือ มีการเอารัดเอาเปรียบก่อนเลือกตั้ง ดังนั้น โดยรวมแล้ว การเลือกตั้งในปี 2562 ก็คือ การประมูลสัมปทานคะแนนเสียงเป็นรัฐบาล คล้ายกับการเลือกตั้งในปี 2544 ซึ่งพรรคของทักษิณ ได้พัฒนาจากการซื้อเสียงธรรมดา มาเป็นการประมูลสัมปทานเพื่อจัดตั้งรัฐบาล โดยใช้นโยบาย “ประชานิยม” ประมูลเสียงจากชาวบ้านอย่างได้ผล ซึ่งดูจากพฤติกรรมของพรรคพลังประชารัฐ บ่งชี้ว่าจะซ้ำรอยเหมือนกับพรรคคุณทักษิณ เช่นเดียวกัน ซึ่งถ้าฝ่ายสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ชนะ แต่ความชอบธรรมต่ำ จะทำให้รัฐบาล จะเจอปัญหารุมเร้าตั้งแต่ต้น”


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่