หน้าแรก Article 4 ปีที่ผ่านมา “ใคร” เปลี่ยนไปแค่ไหน

4 ปีที่ผ่านมา “ใคร” เปลี่ยนไปแค่ไหน

0
4 ปีที่ผ่านมา “ใคร” เปลี่ยนไปแค่ไหน
Sharing

การเมือง เป็นเรื่องที่ผันผวนเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ

ในรอบ 4 ปีเศษ ที่ประเทศไทยอยู่ใต้อำนาจของ คสช. และรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีสิ่งที่ไม่เหมือนเดิมมากมาย โดยเฉพาะกับนักการเมืองหลายคนที่ใช้เวลานี้ทบทวนตนเอง สู่การคิด และทำสิ่งใหม่

ตัวอย่างแรก นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช.

แต่ไหนแต่ไรมา แกนนำเลือดนักสู้ ยืนอยู่ข้างประชาธิปไตย มีหลักการยึดถือ ชนิดจับไม่มีวันปล่อย มือนั้นเหนียวดั่งตีนตุ๊กแก

กระทั่งมีโอกาสเข้าไปอยู่ในเรือนจำ ใช้เวลาหวนคืน นึกคิด สิ่งที่ผ่านพ้นมา ล่าสุด เปลี่ยนแปลงแนวทาง เสนอให้ทุกฝ่ายให้อภัยแก่กัน แถมครั้งหนึ่ง ยังเคยจับมือ “บิ๊กจิ๋ว” พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ หนุนแนวทางนายกฯคนกลาง ชนิดแนวร่วม แนวต้านงงกันไปเป็นไก่ตาแตก

28 กันยายน นายจตุพรกล่าวว่า

“ในเมื่อพล.อ.ประยุทธ์ ประกาศว่าสนใจการเมืองก็ควรเสียสละลาออกจากหัวหน้าคสช.และตำแหน่งนายกฯ เพื่อมาเป็นผู้เล่นให้ถูกต้อง เพราะ 5ปี ที่ผ่านมาถือว่าอยู่มานานแล้ว หากต้องการอยู่ 20 ปี ตามยุทธศาสตร์ประเทศก็ไม่มีปัญหาถ้ามาอย่างสง่างาม

“วันนี้การมีคนกลางเพื่อส่งไม้ต่อนำไปสู่ประชาธิปไตยยังมีความจำเป็น”

อึ้ง !!!

ปัจจุบัน นายจตุพร เป็นแกนนำพรรคเพื่อชาติ พาคนเสื้อแดง ทำงานการเมืองในสภาเต็มตัว

คนต่อมา พลเอกประยุท์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในอดีตเป็นนักรบ ปัจจุบัน ผันตัวมาเป็นนักการเมือง

ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งมั่น พาบ้านเมืองกลับสู่ความสงบสุข พร้อมปราถนาให้ประชาชนกินดีอยู่ดี

เรื่องความสงบ ต้องยกนิ้วให้บิ๊กตู่ ที่สามารถจัดการได้อย่างดีเยี่ยม แต่เรื่องกับปัญหาปากท้อง “บิ๊กตู่” ต้องการเวลาทะลุ 4 ปี ในการสานฝันให้เป็นจริง แต่กติกาบ้านเมือง ไม่เอื้อ ดังนั้น หากหวังจะสานงานต่อ “บิ๊กตู่” ต้องเล่นการเมืองในระบบเลือกตั้งเป็นเหตุให้ต้องถอดชุดนักรบ มาเป็นนักการเมือง ที่ว่ากันว่า มีพรรคพลังประชารัฐ เป็นบันไดสานความตั้งใจ

“ผมมาวันนี้ ถ้าเป็นนักการเมืองเต็มตัว ตอนนี้ผมจะบอกว่าไม่ใช่ก็ไม่ได้ เพราะผมบริหารประเทศ ถ้าเป็นนักการเมืองจะดีใจ เพราะมีคนมารับเยอะ เรียกลุงตู่ ลุงตู่ รู้ไหมว่าผมเป็นทุกข์ แต่ผมยอมเป็นทุกข์ ยอมตายจากตรงนี้ ถ้าผมกลับไป ผมก็นอนคิดว่าทำไมเขาต้องมาหวังที่เรา ทำไมเขาต้องให้เราทำงาน เพราะเขามีความหวังไง เราต้องทำความหวังให้เป็นความจริง แต่เราจะมาหลอกลวง ล่อลวง ไม่ได้ โดยเฉพาะที่บอกว่าเดี๋ยวจะดีขึ้น จะทำไอ้นั่นไอ้นี่ เราต้องทำทีละขั้นทีละตอน ประชาชนต้องศึกษาสิ่งที่รัฐบาลทำมา”

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวเอาไว้เมื่อวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา

อีกหนึ่งคนที่ เกิดความเปลี่ยนแปลง คือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ  เนื่องจาก ใน 4 ปีหลัง นายสุเทพ สวมถึง 3 บทบาทตั้งแต่ผู้นำการชุมนุม พระสงฆ์ และ นักการเมือง

สำหรับนายสุเทพนั้น เคยลั่นวาจาไปแล้วเมื่อครั้งก่อนบวชว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีก แต่เอาเข้าจริง เมื่อการเมืองเรียกร้อง นายสุเทพ ก็ต้องสนองตอบเพื่อผลักดันงานปฏิรูปประเทศ ที่ยังไม่เห็นแววสิ้นสุด

ปัจจุบัน นายสุเทพเป็นแกนนำพรรครวมพลังประชาชาติไทย พาท่านหัวหน้าเดินสายคารวะแผ่นดิน ที่ถูกมองเป็นการหาเสียง เช็กกระแส ก่อนพบความจริงว่าไม่ปังดั่งใจคิด

ล่าสุด นายสุเทพ ที่ได้ชื่อว่าผลักดัน “บิ๊กตู่” ขึ้นสู่ตำแหน่ง มีท่าทีที่เปลี่ยนไป โดยหันกลับมาวิพากษ์เศรษฐกิจไทย ที่กระทบกลางใจรัฐบาลปัจจุบัน

“จากการที่ได้เดินคารวะแผ่นดินมาเกือบครึ่งประเทศ ทำให้ทราบว่าปัญหาของประชาชนส่วนใหญ่ คือ ประชาชนมีความวิตกกังวลเรื่องปัญหาเศรษฐกิจเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในกลุ่มประชาชนที่หัวหน้าครอบครัวทำงานคนเดียว มีภาระของการดูแลผู้สูงอายุและดูแลบุตรหลาน มีรายได้ไม่เพียงพอกับการดำรงชีวิต และส่วนของผู้ค้าในกรุงเทพมหานครด้วย ที่ก็ได้รับผลกระทบเรื่องเศรษฐกิจในระดับล่างไม่ดี การค้าการขายตกต่ำลง ซึ่งตนเองมองว่าถ้าภาวะเศรษฐกิจยังดำรงอยู่เช่นนี้ จะกระทบถึงเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศแน่นอน

ทั้งนี้ ในส่วนของต่างจังหวัดก็พบว่าประชาชนต้องประสบปัญหาทางเศรษฐกิจเช่นกัน และดูท่าจะหนักกว่าในกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะในด้านราคาสินค้าทางการเกษตร พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน สับปะรด มะพร้าว ที่มีราคาตกต่ำอย่างต่อเนื่อง หรือขายได้ไม่คุ้มทุน รวมถึงด้านการประมงมีชาวประมงจำนวนมากที่จะต้องหยุดทำมาหากิน เนื่องจากข้อกำหนดระหว่างประเทศ เป็นต้น”

นอกจากที่เอ่ยชื่อมา ยังนักการเมืองอีกจำนวนมาก ที่ผันแปรเปลี่ยนตามกาล จะเพื่อชาติบ้านเมือง หรือเพื่อความอยู่รอด เป็นเรื่องที่สุดการคาดเดา จากที่เคยสังกัดพรรคนี้ ก็ย้ายไปสังกัดพรรคฝ่ายตรงข้าม แบบช็อกโลก ก็มีให้เห็นอยู่เรื่อย

แต่สุดท้ายแล้ว พัฒนาการของนักการเมือง จะถูกใจมวลชนแค่ไหน

คำตอบอยู่ที่ผลการเลือกตั้ง

Ringsideการเมือง


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่