หน้าแรก news หมอประจำบ้าน ! ยกสถานะ อสม. เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ มีรายได้เทียบผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 2,500-10,000 บาท

หมอประจำบ้าน ! ยกสถานะ อสม. เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ มีรายได้เทียบผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 2,500-10,000 บาท

0
หมอประจำบ้าน ! ยกสถานะ อสม. เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ มีรายได้เทียบผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 2,500-10,000 บาท
Sharing

พรรคภูมิใจไทย (ภท.) จัดเสวนา “ทีมหมอครอบครัว อสม.ภูมิใจรับใช้ประชาชน” ณ ห้องประชุมชั้น 3 โดยมีผู้ร่วมอภิปรายประกอบด้วย  นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการ พรรคภท. , นพ.สำเริง แหยงกระโทก ทีมยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุข , นพ.ไกร ดาบธรรม อดีต”นายแพทย์ดีเด่นชนบท”,พ.ญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ผอ.ศูนย์สุขภาพจิต12 ปัตตานี และ พ.อ.ดร.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญ เครือข่ายเทคโนโลยีดิจิทัล โฆษกพรรค ภท. นายประภาส แก้กลาง ประธาน อสม.บ้านโนนสูง และ นางพรพิศ รถสูงเนิน อสม.บ้านโนนสูง อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา ร่วมอภิปราย

นายแพทย์สำเริง แหยงกระโทก  กล่าวถึงความเป็นมาของ อสม. ว่า การแพทย์เมื่อ 40 ปีที่แล้ว คนรวยได้ไปโรงพยาบาล แต่ชาวบ้านกลับถูกทอดทิ้ง และจะทำอย่างไรให้คนจนได้มีสุขภาพที่ดีขึ้น และได้มีการตั้งเป้าหมายสมาชิก 200 กว่าประเทศให้มี Health for all หรือสุขภาพดีถ้วนหน้าในปีค.ศ.2000 หรือ ปีพ.ศ. 2543  ซึ่งการที่จะทำให้ Health for all 2000 ในไทยนั้นจะต้องมีประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นหมอด้วย โดยสมัยก่อนการรักษา การฉีดยา จะต้องอยู่ในการดูแลรักษาของแพทย์และพยาบาลเท่านั้น ต่อมาในปีพ.ศ. 2521 แนวคิดสาธารณสุขมูลฐานจึงเกิดขึ้น คือการให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในงาน โดยให้มีอาสาสมัครที่จะเข้ามาช่วยชาวบ้าน เพราะฉะนั้นประเทศไทยจึงต้องทำตามแนวทางขององค์การอนามัยโลกด้วย อาสาสมัครที่จะทำในปี 2521 มีอยู่ 2 ประเภท คือ ผสส. ผู้สื่อข่าวสารสาธารณสุข โดยหมู่บ้านจะมีการเลือกคน 10 คน ให้มีความรู้ในเชิงข้อมูลข่าวสารในเชิงส่งเสริมสุขภาพ และใน 10 คนนั้น ให้เลือกหัวหน้ามา 1 คน ให้เป็นหัวหน้าของ ผสส. โดยให้เรียกว่า อสม. อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน แต่หน้าที่ทั้ง 2 ประเภทนั้นมีบัญญัติไว้ 6 ข้อ คือ แจ้งข่าวร้าย กระจายข่าวดี ชี้บริการ ประสานงานสาธารณสุข บำบัดทุกข์ประชาชน ทำตนเป็นตัวอย่างที่ดี  ทั้งนี้ ผสส. และ อสม. จะต้องประสานงานกับทางสาธารณสุข โดยไม่ได้รับค่าตอบแทน แต่ในการอบรมจะมีเบี้ยเลี้ยงให้แทน ปี 2537 กระทรวงสาธารณสุข ได้ยกฐานะ ผสส. ให้เป็น อสม. ตั้งแต่นั้นมา เหลือแต่ อสม. ประเภทเดียว และเป็นปีที่เข้าสู่ Health for all by the year 2000 และได้มีนโยบายบัตรสุขภาพซึ่งถือเป็นที่ตั้งต้นหลักประกันสุขภาพ 30 บาท เมื่อปี 2551 ได้เห็นถึงปัญหาของ อสม. ที่ไม่มีค่าตอบแทน จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่เอาเงิน อบจ.จ้าง อสม.แทน และในปี 2552 ทางรัฐบาลจึงได้มีเงินจ้าง อสม. รายละ 600 บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้เรียกว่า ค่าป่วยการ โดย อสม.ต้องทำงานเป็นเวลา 30 วัน  อย่างไรก็ตาม อสม.คือจิตอาสาผู้เสียสละ จึงควรให้ค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น

ด้าน พ.อ.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ กล่าวว่า เรื่องนี้น่าตื่นเต้นมาก สามารถนำมาใช้ประโยชน์ โดยเชื่อมโยงผ่านระบบ อินเตอร์เน็ต ช่วยในการสื่อสารกันได้ทั่วประเทศ เราเรียกว่า เป็น “โทรเวชกรรม”  หรือ Tele Medicine เป็น บิ๊กดาตา ที่เก็บข้อมูลจำนวนมาก ทางด้านการแพทย์ เพื่อประโยชน์ การวินิจฉัย และ รักษาพยาบาล ผู้ป่วยที่ อยู่ห่างไกลตามชนบท  โดยเคยนำข้อมูลดังกล่าว อภิปรายให้ บุุคคลากรทางการแพทย์ รับฟัง ที่ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ยืนยันว่า สามารถทำได้จริง  โดย โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้นำระบบ “โทรเวชกรรม” มาใช้แล้ว ที่สำคัญจะช่วยประหยัดงบประมาณให้ กระทรวงสาธารณสุข ในการรักษาพยาบาล

สำหรับแพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา  ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 ปัตตานี กล่าวถึง อสม.ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีปัญหาสุขภาพเป็นอันดับหนึ่งของประเทศตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของอนามัยแม่และเด็ก แม่เสียชีวิต เด็กเสียชีวิต เรื่องของพัฒนาการ ในระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อสม.ทางภาคใต้ ต้องการความรู้เรื่องของการเยียวยาจิตใจในเบื้องต้น การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อเจอเหตุการณ์แล้วจะพูดกับผู้ได้รับผลกระทบอย่างไร เพื่อให้ไม่เครียด และสามารถดำรงค์ชีวิตอยู่ได้ และอสม.หลายคน ยังเป็นเหยื่อของความรุนแรง บางคนก็เป็นผู้ที่ได้รับผลโดยตรง ฉะนั้นความรู้เบื้องต้นเหล่านี้ ทาง อสม.ในพื้นที่ได้ขอมาเป็นพิเศษ ทางทีมแพทย์หญิงเพชรดาว ได้ขยายความรู้ไปพบว่า อสม.รู้จักทุกบ้าน รู้ถึงผลกระทบ และสิ่งที่เขาไปถ่ายทอดในเบื้องต้นช่วยได้อย่างมาก อสม.ในพื้นที่ จะเป็นด่านแรกที่ให้ความช่วยเหลือ นอกจากนี้สังคมจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว จะมีผู้สูงอายุติดบ้าน ติดเตียง ฉะนั้นจะทำอย่างไรให้ติดสังคมมากขึ้น ซึ่งการติดสังคมจะดีขึ้น เพราะจะมีสังคมและชมรมผู้สูงอายุ และมีกิจกรรมต่างๆ สำหรับสื่อสังคมออนไลน์จะช่วยผู้สูงอายุได้ในระดับหนึ่ง  จะเห็นได้ว่า อสม.จะเป็นผู้ที่เสียสละ และเป็นจิตอาสา ฉะนั้นถึงเวลาแล้วที่จะต้องคิดทบทวนว่าควรที่จะต้องยกสถานะ อสม.อย่างไรบ้างให้พวกเขามีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม

นายแพทย์ไกร ดาบธรรม กล่าวถึง อสม.ว่ามีบทบาทมากมาย ตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บ ตาย อสม.มีทุกพื้นที่ในประเทศไทย คอยดูแลพี่น้องประชาชนในหมู่บ้าน ในชุมชนอย่างดีมาโดยตลอด ที่ผ่านมา อสม.ในการทำงานเป็นอาสาสมัครมีจิตเป็นกุศล อยากให้คนในหมู่บ้านได้หายจากโรคภัยไข้เจ็บจึงมุ่งมั่นที่จะทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการรักษาพยาบาลเบื้องต้น หรือการให้ความรู้  แต่ค่าป่วยการที่ได้รับไม่เพียงพอต่อการติดต่อ หรือค่าเดินทาง ต่อไปนี้ต้องเปลี่ยนแปลงโดยการยกฐานะ อสม.ขึ้น ยกความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ยกให้เป็นหมอประจำบ้าน และหมอประจำหมู่บ้านสมัยก่อนที่ อสม.ไปพบตามหมู่บ้านคือ ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ป่วยติดเตียง แม้จะมีลูกหลานแต่การกินดี อยู่ดี คือพื้นฐานเรื่องของสุขภาพ หากลูกหลานดูแลไม่ดีก็ทำให้ผู้สูงอายุเจ็บไข้ได้ป่วย เข้าโรงพยาบาล ค่ารักษาที่เกิดจากการเจ็บป่วยก็เกิดขึ้นหลายเท่า เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมาได้มีการจัดทำโครงการกองทุนผู้สูงอายุ โดยการซื้อข้าวสาร อาหารแห้ง ผ้าห่ม ให้ทาง อสม.จัดสรรให้บ้านที่ไม่มี ได้ใช้ ปรากฎว่าผลที่ออกมาคือ สุขภาพดีขึ้น ค่ารักษาพยาบาลน้อยลง ซึ่งตรงนี้ทางพรรคภูมิใจไทย จะมีนโยบายอสม. แล้ว ยังมีการดูแลผู้สูงอายุอีกด้วย

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า อสม.หรือ อาสาสมัครประจำหมู่บ้าน มีประมาณ 1 ล้านคน เป็นพลังสำคัญ เพื่อดูแลสุขภาพคนไทยทั่วประเทศ และ เป็นนโยบายของนายอนุทิน ชาญวีรกูล หน.พรรค ภท.ที่เห็นความสำคัญของ อสม.สมัยเมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมช.สาธารณสุข ได้เห็นการปฏิบัติหน้าที่ ฝนฐานะ ด่านแรก เพื่อช่วยเหลือ คนป่วยที่อยู่ห่างไกล ตามชนบท  โดย อสม.ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2520 หรือ 40 กว่าปี แต่ปัจจุบัน ยังมีปัญหา  ขาดเครื่องมือ และ อุปกรณ์ต่างๆจำนวนมาก การเสวนาครั้งนี้ จะช่วยระดมสมองจากทุกฝ่าย เพื่อให้ อสม.มีความเข้มแข็ง

เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กล่าวด้วยว่า พรรคได้ศึกษาและวิจัย ทำอย่างไรให้ อสม.เข้มแข็ง โดยใช้เทคโนโลยี ดิจิตัล เป็นเครื่องมือ ช่วยเหลือ ให้ อสม.สามารถวินิจฉัยโรคได้แม่นยำ ไม่ต้องเสียเวลาย้ายผู้ป่วยมารักษาที่ โรงพยาบาล ยังเป็นการช่วยประหยัดงบประมาณของ กระทรวงสาธารสุข แต่ทั้งนี้ ต้องทำอย่างเป็นระบบ ผ่านรูปแบบและเครื่องมือที่เราได้เตรียมไว้ เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงได้พร้อมกันทั่วประเทศ ผ่าน โรงพยาบาลของรัฐและเอกชนทั่วประเทศ และ เมื่อ อสม.มีคุณภาพเพิ่มขึ้น จึงต้องยกระดับ อสม.ให้มั่นคง โดย ปรับสถานะ อสม.ขึ้น เป็น หมอประจำบ้าน มีหน้าที่ดูแลประชาชน ประมาณ 15 ครอบครัว ต่อ1หมู่บ้าน และ ต้องผ่านการฝึกอบรม ตามหลักสูตร ที่ พรรค ภท.ได้เตรียมไว้   สำหรับรายได้ หรือ สวัสดิการ ของ อสม.พรรค ภท.ได้ศึกษารูปแบบมาจาก สถาบันกำนันและผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย โดย อสม.จะกำหนดให้มีรายได้เท่ากับ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน  (ผช.ผญบ.) เดือนละ 2,500 บ. และ มีขั้นบันไดในการปรับรายได้สูงสุด 10,000 บ.ส่วน หัวหน้าทีม อสม. มีรายได้ เดือนละ 5,000 บ.

“วิธีนี้สามารถช่วยประหยัดงบประมาณในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยให้กระทรวงสาธารณสุขได้มาก เพียงแค่หาวิธีมาบริหารจัดการระบบ โดยนำเอาเทคโนโลยีมาช่วย และยังทำให้ อสม.มีความตื่นตัว ตั้งใจทำงาน ซึ่ง พรรคภูมิใจไทย ให้คิดและวิจัยระบบทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว”  นายศักดิ์สยาม กล่าว และ บอกด้วยว่า ระบบดังกล่าวนี้ มีการนำมาปฏิบัติแล้ว ที่ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เป็นแห่งแรก และ พรรคภูมิใจไทย ได้ร่างรายละเอียด และ ขั้นตอน ต่างๆ จัดทำเป็น ร่าง พ.ร.บ.เพื่อเตรียมนำเสนอผลักดันให้เป็นกฎหมาย ตามแนวนโยบายของพรรค คือ ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน และ เรื่องนี้ ถือว่า เป็นการเพิ่มอำนาจประชาชน คือ  การเพิ่มอำนาจ อสม.เพื่อให้ทำหน้าที่ ดูแลประชาชนให้มีสุขภาพแข็งแรง และ เมื่อประชาชนแข็งแรง ประเทศชาติก็จะแข็งแรงตามไปด้วย


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่