หลายคนจำได้ดี เมื่อ 14 ปีที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิพัดเข้าถล่มพื้นที่ 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน ประกอบด้วย ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง สตูล ระนอง เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547
นอกเหนือจากความสูญเสียอันเกิดจากการบาดเจ็บล้มตายจำนวนมากแล้ว ยังทำให้มีบ้านเรือนของประชาชนได้รับความเสียหายกว่า 10,196 ครัวเรือน รวม 25 อำเภอ 407 หมู่บ้าน 69,263 คน
เหตุการณ์ครั้งนั้น ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของผู้ประสบภัยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดที่พึ่งพิง หลายครอบครัวพบว่า บ้านที่เคยอบอุ่นถูกกระแสคลื่นยักษ์พัดพาไปต่อหน้าต่อตา
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่ารัฐบาลในยุคนั้นได้รับเสียงชื่นชมท่ามกลางวิกฤติ ทั้งความสามารถด้านบริหารจัดการและความรวดเร็วในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข
หนึ่งในนั้น คือ การสร้างที่อยู่อาศัยให้กับครอบครัวผู้ประสบภัย ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีจากภาครัฐและภาคเอกชน
นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย มักกล่าวกับบุคคลใกล้ชิดอยู่บ่อยครั้งว่า ผลงานที่ท้าทายและภาคภูมิใจครั้งหนึ่งในชีวิต คือเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้รับมอบหมายให้ควบคุมดูแลการสร้าง “บ้านน็อคดาวน์” ให้ผู้ประสบภัยสึนามิได้อยู่อาศัย
อดีตรัฐมนตรีท่านนี้เล่าว่า ได้ขอความร่วมมือให้วิศวกรของบริษัทซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น เป็นผู้ออกแบบและดำเนินการจนประสบความสำเร็จ เยียวยาความเดือดร้อนของผู้ตกทุกข์ได้ทันท่วงที
ไม่เพียงเท่านั้น นายอนุทินยังคอยติดตามการฟื้นฟูสุขภาพจิตผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิในพื้นที่ 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน มีผู้ป่วยทางจิตใจ 17,501 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ประสบภัยในพื้นที่จังหวัดพังงา 8,540 ราย กระบี่ 3,617 ราย ภูเก็ต 2,600 ราย ระนอง 1,484 ราย สตูล 646 ราย และตรัง 614 ราย
โดยเมื่อ 26 พ.ค.2548 นายอนุทินร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา เป็นประธานในพิธีเปิด “ศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพจิตผู้ประสบภัยสึนามิ” (MHCR – Mental Health Recovery Center) ที่ทางกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการเปิดขึ้นเพื่อให้เป็นศูนย์ประสานงานและบูรณาการงานฟื้นฟูสุขภาพจิต กรณีผลกระทบภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิในชายฝั่งทะเลอันดามัน โดยเป็นศูนย์สุขภาพจิตแบบเบ็ดเสร็จในชุมชนที่ให้การสนับสนุนด้านการบริการให้คำปรึกษา และการช่วยเหลือในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตทั้งหมด
เหล่านี้คือสิ่งที่อยู่ในความทรงจำตลอด 14 ปี ของนักบริหารที่ชื่อ “อนุทิน ชาญวีรกูล”
ริงไซด์การเมือง รายงาน