“การที่หลายคนออกมาพูดวันนี้ จะให้ราคาข้าว 60% อยู่กับคนปลูก 15% อยู่กับโรงสี และอีก 15% อยู่กับคนส่งออก มันเขียนได้หรือกฎหมายแบบนี้ทำได้หรือ ถ้าทำไม่ได้อย่าไปเชื่อเขา มันทำไม่ได้”
เป็นคำพูดจากผู้ใหญ่ในบ้านเมือง
อาจเป็นคำเตือน ถึงชาวบ้านด้วยความหวังดี หรือเพียงต้องการตัดคะแนนของบางพรรค
กระนั้นแล้ว สำหรับพรรคภูมิใจไทย แม้จะถูกโยงเข้าไปเป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบ แต่มิได้ยี่หระกับความเห็นดังกล่าวมากนัก
เพราะนโยบาย “ข้าว” ของพรรคภูมิใจไทย ตั้งอยู่บนความจริง
3 เดือนที่ผ่านมา “ภูมิใจไทย” มีความแน่วแน่ในการนำเสนอเรื่องการแบ่งปันกำไรข้าว ผ่านการตั้งกองทุนร่วม 3 ฝ่าย ทั้งพ่อค้า โรงสี เกษตรกร ขึ้นมาดูแลเรื่องการผลิต และการแบ่งปันผลกำไร ในสูตร 70 – 15 – 15 โดยชาวนาจะต้องได้กำไรมากที่สุด เพราะลงทุน ลงแรง มากที่สุด
นายภราดร ปริศนานันทกุล ทีมยุทธศาสตร์ข้าวพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า
“เราจะปรับระบบแบ่งสรรปันส่วนผลกำไรแบบ 70:15:15 คือ ชาวนา ได้กำไร 70 เปอร์เซ็นต์ โรงสี 15 เปอร์เซ็นต์ และผู้ประกอบการส่งออกข้าว 15 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจากสถิติข้อมูลปี 61 เดิมชาวนาได้กำไรจากข้าวเปลือก 1,255 บาทต่อตัน เมื่อหักลบต้นทุนราคาขายแล้ว อาจดูเหมือนเยอะ แต่ต้องมีค่าเช่าที่และยังไม่รวมค่าแรงอีก กำไรก็จะลดลงไปกว่านี้ โดยจะได้รับส่วนแบ่งเพิ่มเป็น 2,818 บาทต่อตัน ด้านโรงสีจากเดิมได้กำไร 756 บาทต่อตัน จะได้กำไร 603 บาทต่อตัน และผู้ประกอบการส่งออก จากเดิมได้กำไร 2,221 บาทต่อตัน ก็จะได้กำไร 603 บาทเช่นกัน”
การนำเสนออย่างหนักแน่นและมั่นคง ผ่านสมาชิกของพรรค ทำให้แนวทางนี้กลายเป็นที่รู้จักของประชาชนตามลำดับ
หลักการเบื้องต้นเน้นเข้าไปจัดการ “ผู้เล่น” ในโครงสร้างราคาข้าวแทนการเอาเงินประชาชนไปอุดหนุน ซึ่งจะถูกครหาว่าเป็นประชานิยม
นอกจากที่กล่าวมาแล้ว แนวทางของพรรคยังใช้โมเดลของ พรบ.อ้อยและน้ำตาล ซึ่งบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน
โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคมักจะพูดเสมอว่า
“ถ้าชาวไร่อ้อยแบ่งปันกำไรจากน้ำตาลได้”
“ชาวนาก็ต้องได้กำไรจากข้าวถุงเช่นกัน”
ย้อนกลับมาที่ พรบ. อ้อยและน้ำตาล อดีตนายกสมาคมชาวไร่อ้อยภาคอีสานตอนบน และทีมยุทธศาสตร์ภาคการเกษตรของพรรคภูมิใจไทย ดร.ธีระชัย แสนแก้ว ให้ข้อมูลว่า กฎหมายฉบับนี้ คือต้นแบบของแนวคิดเรื่องการแบ่งปันกำไรข้าวของพรรคภูมิใจไทย
สำหรับ พรบ.ดังกล่าว เป็นกฎหมายที่ใช้มาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2527 เพื่อสร้างความเป็นธรรมด้านราคาให้กับภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง แม้จะถูกบีบให้มีการแก้ไขหลายครั้ง แต่ พรบ.ดังกล่าวยังคงยืนหยัด เป็นหลักพิงให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยมากว่า 32 ปี
กระบวนการเริ่มจากตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ชาวไร่อ้อย ภาครัฐ และโรงงานอ้อย มีหน้าที่กำหนดพื้นที่ปลูกอ้อย จดทะเบียนชาวไร่ จัดสรรปริมาณอ้อยสู่โรงน้ำตาล ตรวจสอบคุณภาพอ้อย กำหนดวันเริ่มต้น สิ้นสุด หีบอ้อย กำหนดชนิด คุณภาพ และปริมาณน้ำตาลทราย กำหนดหลักเกณฑ์การขาย การส่งออก
สาระสำคัญด้านการแบ่งปันกำไรอยู่ที่มาตรา 49 ระบุให้ก่อนเริ่มการผลิตน้ำตาลทราย ให้คณะกรรมการบริการจัดการประเมินรายได้ จากการขายน้ำตาลทราย เพื่อกำหนดราคาอ้อย และผลตอบแทน การผลิตและขายน้ำตาลทรายขั้นต้น ต้องไม่น้อยกว่า 80% ของประมาณการรายได้ ก่อนสรุปผลตอบแทน เสนอ ครม. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
เพื่อให้เกษตรกร และพ่อค้า มีรายได้อย่างเป็นธรรม
นี่คือกฎหมายการแบ่งปันกำไรสินค้า “อ้อย” ซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบัน
จึงเกิดคำถามว่า ทำไมจะนำมาปรับใช้กับโครงสร้าง “ข้าว” ไม่ได้ ???
Ringsideการเมือง