รศ.สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง กล่าวถึงบทเรียนการเลือกตั้งในอดีตที่ถูกกล่าวขานว่าเป็นการเลือกตั้งที่สกปรกว่า คนส่วนใหญ่จะนึกถึงการเลือกตั้งวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ.2500 ยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่มาลงแข่งในนามพรรคเสรีมนังคศิลา ซึ่งเป็นของฝ่ายรัฐบาล โดยมี พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นเลขาธิการ ขณะที่คู่แข่งหลักคือพรรคประชาธิปัตย์ มีนายควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้า
รศ.สุขุม กล่าวถึงบรรยากาศการหาเสียงในยุคนั้นว่า เต็มไปด้วยการเอาเปรียบจากผู้มีอำนาจ เช่น คนของพรรคเสรีมนังคศิลา ทำอะไรก็ไม่มีใครกล้าเอาผิด และมีอันธพาลไปก่อกวนเวทีปราศรัยของพรรคตรงข้าม อีกทั้ง ยังมีวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะ อย่างคำว่า “พลร่ม” หมายถึง การจัดคนมาลงคะแนนแทน และ “ไพ่ไฟ” คือ การนำบัตรเลือกตั้งปลอมที่ลงคะแนนให้พรรคที่ต้องการไว้แล้วไปใส่ในหีบลงคะแนน โดยกรรมการรู้เห็นเป็นใจ บางที่ก็เปลี่ยนทั้งหีบก็มี
นอกจากนี้ ในขั้นตอนการนับคะแนนก็ยังโกงกันด้วยการนับ โดยทำอย่างไรก็ได้ ให้ฝ่ายผู้มีอำนาจพลิกกลับมาชนะ อย่างขณะนั้นพื้นที่กรุงเทพมหานครมี 9 เขต นับตอนแรกประชาธิปัตย์นำพรรคเสรีมนังคศิลา 8 ต่อ 1 แต่นับไปนับมา 2 คืน 3 วัน กลายเป็นพรรคเสรีมนังคศิลากลับมาชนะ 7 ต่อ 2
รศ.สุขุม ยังเปิดเผยอีกว่า ในยุคนั้นมีความคล้ายคลึงกับในยุคนี้คือ การมี ส.ส.ประเภท 2 หรือ ส.ส.ลากตั้ง ซึ่งมีอำนาจหน้าที่เหมือนกับ ส.ส.เลือกตั้ง อีกด้วย
“พอผลการเลือกตั้งออกมา มันไม่ได้รับการยอมรับ คนก็โวยวาย มีนิสิตนักศึกษาทั้งจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ออกมาเดินขบวนประท้วงไปถึงทำเนียบ ในที่สุดบ้านเมืองก็วุ่นวายจนกระทั่งถึงเดือนกันยายนในปีเดียวกัน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็รัฐประหาร ซึ่งก็สืบเนื่องมาจากการเลือกตั้งที่สกปรก พอมาดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคนี้ คนเขาก็คิดได้ว่า มันมีการใช้อำนาจเอาเปรียบกันหรือเปล่า” รศ.สุขุม กล่าว