นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า กยศ.จะนำมาตรการหักหนี้ กยศ.จากบัญชีเงินเดือนของลูกหนี้ที่ทำงานกับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ธนาคารพาณิชย์ และข้าราชการที่สังกัดหน่วยงานองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แบบอัตโนมัติ มาใช้ตั้งแต่เดือน ก.พ. 2562 เป็นต้นไป โดยเบื้องต้นมีลูกหนี้เข้าข่ายจะถูกหักบัญชีเพิ่มเติม 1.6 แสนราย แบ่งเป็น ภาคเอกชน 8 หมื่นราย รัฐวิสาหกิจ 1 หมื่นราย ที่เหลือเป็น อปท. เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล
โดยวิธีหักเงินเดือนจะมีการหักเฉลี่ยเท่ากันเป็นประจำทุกเดือน เช่น วงเงินที่ชำระหนี้ต่อปีจะมีการหาร 12 และนำไปเฉลี่ยเป็นรายเดือน ซึ่งไม่ใช่จำนวนเงินที่มากเกินไป เช่น ปีแรกที่จะต้องจ่าย 1,500 บาท เมื่อหาร 12 ก็จะเฉลี่ยถูกหักเดือนร้อยกว่าบาท ยกเว้นงวดปีการศึกษา 2562 ที่เหลือรอบบัญชีเพียง 5 เดือน ก็จะหาร 5 จากยอดวงเงินที่ต้องชำระ อย่างไรก็ตามระหว่างนี้ถ้าลูกหนี้คนใดได้รับผลกระทบจากมาตรการหักเงินเดือน ก็สามารถเข้ามาเจรจากับ กยศ.เพื่อหาทางผ่อนปรน
ผู้จัดการ กยศ. นายชัยณรงค์ เปิดเผยอีกว่า ผลการดำเนินหักเงินเดือนข้าราชการที่ได้รับเงินเดือนผ่านระบบจ่ายตรงเงินเดือนของกรมบัญชีกลางในเดือน ธ.ค. 2561 มียอดการรับชำระหนี้ ณ วันที่ 25 ธ.ค. 2561 จำนวนทั้งหมด 1.55 แสนรายการ รวมยอดเงินสูงถึง 225 ล้านบาท และหากครบ 1 ปี คาดว่าจะมีรายรับจากการรับชำระหนี้จากลูกหนี้กลุ่มข้าราชการมากกว่า 2,500 ล้านบาท สำหรับปีการศึกษา 2562 กยศ.ได้จัดวางกรอบงบประมาณไว้ 3 หมื่นล้านบาท คาดว่าให้นักศึกษากู้ยืมได้ไม่ต่ำกว่า 6.2 แสนราย