ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจาภาควิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวถึงเพลง “ในความทรงจำ” ที่แต่งโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ว่า สามารถมองได้ว่าเป็นการสร้างวาทกรรมผ่านเพลง โดยจะสื่อว่าใครที่สร้างความวุ่นวายในช่วงที่ผ่านมา แล้วอย่าไปเลือกคนประเภทนั้นเข้ามาอีก ซึ่งในเพลงนี้ นายกฯอาจมีนัยยะบางอย่างแฝงอยู่ อย่างประโยคที่บอกว่า “ต้องทำอย่างไรเพื่อไม่ให้ประเทศไทยซ้ำเดิม” เหมือนจะเป็นการชี้นำให้เลือกหรือไม่เลือกบางฝ่าย
“4-5 ปีที่ผ่านมา ถ้าท่านบริหารบ้านเมืองหรือทำงานได้ดีเหมือนแต่งเพลง ผมคิดว่ามันน่าจะดีกว่านี้ ครั้งนี้ท่านแต่งเพลงเพื่อที่จะมีนัยยะบางอย่างพุ่งเป้าไปที่บางกลุ่ม ทั้งนี้ ผมว่ากระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย เรายังต้องเจออะไรอีกเยอะ ทั้งหมดคือบทเรียน เพื่อมองไปข้างหน้า” ผศ.ดร.โอฬารกล่าว
ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำวิทยาลัยรัฐกิจ ม.รังสิต ระบุว่า นัยยะของเพลงเหมือนหวังผลอะไรบางอย่าง และพอมาดูจริงๆ ในรอบ 5 ปี ตั้งแต่เพลงแรกที่บอกว่าจะอยู่ไม่นาน ส่วนเพลงช่วงกลางๆ บอกว่าตัวเองเป็นสะพาน จนถึงเพลงล่าสุดที่พูดถึงความทรงจำ มันก็มีนัยยะว่าการเมืองกำลังจะเข้าสู่โหมดปกติ เตรียมเข้าสู่การเลือกตั้ง
“ประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างอินโดนีเซีย ก็เคยมีผู้นำที่มาจากนายพลแต่งเพลงเป็นซีรีส์แบบนี้เหมือนกัน แต่ต่างจากไทยตรงที่ของเขาเล่นกีตาร์โชว์ให้เห็นว่าแต่งเอง และโดนใจกลุ่มเป้าหมายอย่างกลุ่มแม่บ้านซึ่งเป็นฐานเสียงชั้นดี ดังนั้น การแต่งเพลงของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงเป็นเหมือนการปรับกลยุทธ์ใหม่ มาเป็นการใช้อำนาจแบบที่เข้มข้นน้อยลงหรือที่เรียกว่าซอฟเพาเวอร์” ผศ.วันวิชิต กล่าว