ทันทีที่พรรคภูมิใจไทย ประกาศหนุนปลูกกัญชา เป็นช่องทางให้ประชาชนหารายได้ ซึ่งหากทำสำเร็จจะทำให้แต่ละครัวเรือนมีรายได้เสริมประมาณ 4.2 แสนบาทต่อปี ที่มาพร้อมกับเสียงสนับสนุน และเสียงทัดทานของสังคม เพราะตามกฎหมาย กัญชา ยังถูกจัดเป็นพืชเสพติด แม้ในหลายประเทศได้ยกระดับให้กัญชากลายเป็นพืชเศรษฐกิจแล้วก็ตาม
ข้อมูลจาก ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิตเปิดเผยว่ามูลค่ากัญชาในตลาดโลก ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 4.6 ล้านล้านบาท ถือเป็นเม็ดเงินมหาศาล ที่แย่งชิงกันอยู่ในไม่กี่ประเทศ ซึ่งประกาศให้กัญชาเป็นสิ่งถูกกฎหมาย
สหรัฐอเมริกา เป็นหนึ่งในประเทศที่เปิดรับกัญชามากที่สุด โดย 29 รัฐอนุญาตให้ปลูกและจำหน่ายถูกกฎหมายของรัฐ ทั้งเพื่อความบันเทิง และทางการแพทย์ ภายใต้กฎเกณฑ์ที่แต่ละรัฐกำหนด อาทิ มลรัฐวอชิงตัน ดีซี
ออกข้อกำหนดการใช้กัญชาเพื่อความบันเทิง ผู้ซื้อต้องมีอายุ 21 ปีขึ้นไป ต้องซื้อจากร้านที่มีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย ห้ามเสพในที่สาธารณะ เช่น ร้านอาหาร หรือสวนสาธารณะ และต้องเสพห่างจากเขตโรงเรียน 300 เมตร โดยผู้ฝ่าฝืนจะถูกปรับครั้งแรก 100 ดอลลาร์ และจะสูงขึ้นในครั้งต่อไป และสามารถครอบครองได้ไม่เกิน 28.5 กรัม และปลูกได้ไม่เกิน 6 ต้นที่บ้าน และต้องปลูกโดยมิดชิด เนื่องจากยังผิดกฎหมายระดับประเทศอยู่
นักวิจัยจากอาร์ควิว วิเคราะห์ว่า ธุรกิจกัญชาจะสร้างงานให้คนสหรัฐฯ กว่า 4 แสนตำแหน่งในอีก 2-3 ปีข้างหน้า
ขณะที่แคนาดา ประกาศให้กัญชาเป็นพืชเพื่อใช้รักษาโรคตลอด 20 ปีที่ผ่านมา และล่าสุด เพิ่งอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อความบันเทิง โดยมีบริษัทผลิตและจัดจำหน่ายรายใหญ่ที่สุดของโลกอยู่ 2 บริษัทคือ การ์นาปี โกรว์ธ คอร์ป และ ออโรร่า แคนาบิส อิงค์ ทั้งนี้ คาดว่าภายในปี 2021 แคนาดาจะเก็บภาษีกัญชาได้สูงถึง 7,000 ล้านดอลลาร์แคนาดาต่อไป
ในด้านการท่องเที่ยวเนเธอแลนด์ มีร้านกาแฟ ที่จำหน่ายกัญชาถูกกฎหมาย ซึ่งถูกใจนักท่องเที่ยวทั่วโลก ผลสำรวจจาก World TOURIST ระบุว่านักท่องเที่ยว 45.3% ที่มายังดินแดนกังหันลม มีจุดมุ่งหมายคือการใช้กัญชาเพื่อความบันเทิงอย่างเสรี สำหรับธุรกิจกัญชาในฮอลแลนด์มีเม็ดเงินหมุนเวียนประมาณ 60,000 ล้านบาทต่อปี
ในอเมริกาใต้ อุรุกวัยเป็นประเทศที่สนับสนุนให้ใช้กัญชาเพื่อความบันเทิงและการแพทย์มาตั้งแต่ปี 2013 อย่างไรก็ตามอุรุกวัย ไม่เปิดโอกาสให้คนต่างชาติซื้อกัญชา เนื่องจากการซื้อกัญชาจะต้องใช้บัตรประชาชนของอุรุกวัย และต้องมีทะเบียนบ้านชัดเจนแน่นอน
ขณะที่ออสเตรเลียเป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ มากที่สุดในโลก แต่ยังไม่สามารถส่งออกได้ ทว่าความหวังดังกล่าวกำลังจะเป็นจริง เมื่อมีการเสนอกฎหมายให้เอกชนแดนจิงโจ้สามารถส่งออกกัญชาในฐานะเวชภัณฑ์ได้
การเปลี่ยนแปลงกฎหมายนี้จำเป็นต้องได้รับการรับรองจากรัฐสภาก่อน ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นได้เร็วสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 โดยพรรคแรงงานที่เป็นฝ่ายค้านก็แสดงท่าทีสนับสนุน
สถานีโทรทัศน์เอบีซี ของออสเตรเลีย รายงานว่า การเปลี่ยนแปลงนี้จะครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ รวมถึง น้ำมัน แผ่นแปะ สเปรย์ ยาอม และยาเม็ด
ทั้งนี้ จากการประเมินของแกรนด์วิว รีเสิร์ช (Grand View Research) บริษัทที่ปรึกษาของสหรัฐ ระบุว่า ตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์ทั่วโลกอาจมีมูลค่าสูงถึง 55,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.9 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2025
หรับประเทศไทย นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ความเห็นว่า
“คงต้องรอให้มีการแก้กฎหมายให้ชัดเจนว่า กัญชาสามารถนำมาใช้ทางการแพทย์ได้หรือไม่ ทั้งนี้ กัญชาสายพันธุ์ไทยถือว่าเป็นกัญชาที่มีคุณภาพดี ซึ่งแคนาดาก็ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ดำเนินการได้ดี”
ตีความกันให้ง่ายคือส่วนแบ่งตลาดกัญชากว่า 4.5 ล้านล้านบาท ยังไม่ใช่เรื่องของไทย
เป็นที่มาของนโยบายของพรรคภูมิใจไทย ที่หวังให้ไทยเข้าไปมีส่วนแบ่งในเม็ดเงินอภิมหาศาลตรงนี้ เพื่อเพิ่มรายได้แก่ประชาชน ในหนึ่งครัวเรือนจะมีเงินเพิ่มขึ้นถึง 4.2 แสนบาทต่อปี
แต่จะเป็นจริงแค่ไหน ต้องขึ้นกับความสำเร็จของพรรคภูมิใจไทย ในสนามเลือกตั้ง
Ringsideการเมือง