หน้าแรก news นักวิชาการ มธ.วิเคราะห์ทุกความเป็นไปได้หลังเลือกตั้ง แนะ “ประยุทธ์” ไม่ลงว่าที่นายกฯ ดีที่สุด!

นักวิชาการ มธ.วิเคราะห์ทุกความเป็นไปได้หลังเลือกตั้ง แนะ “ประยุทธ์” ไม่ลงว่าที่นายกฯ ดีที่สุด!

0
นักวิชาการ มธ.วิเคราะห์ทุกความเป็นไปได้หลังเลือกตั้ง แนะ “ประยุทธ์” ไม่ลงว่าที่นายกฯ ดีที่สุด!
Sharing

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล  อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก Prinya Thaewanarumitkul ในหัวข้อ “บทวิเคราะห์ : #พลเอกประยุทธ์จะต้องทำอย่างไรถ้าต้องการเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปหลังเลือกตั้ง ผลที่จะตามมาคืออะไร และดังนั้น #พลเอกประยุทธ์ควรจะลงเป็นว่าที่นายกฯ หรือไม่” มีรายละเอียดว่า

ในที่สุดวันเลือกตั้งก็ได้กำหนดแล้วว่าคือวันที่ 24 มีนาคม 2562 และการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. จะมีขึ้นในวันที่ 4-8 กุมภาพันธ์นี้ สิ่งที่สื่อมวลชนและผู้ติดตามการเมืองทุกคนเฝ้าดูคือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมีชื่อเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองพรรคหนึ่งพรรคใดหรือไม่ ซึ่งอย่างช้าที่จะทราบกันคือวันสุดท้ายของการสมัคร ส.ส. คือวันที่ 8 กุมภาพันธ์นี้

แล้วพลเอกประยุทธ์จะตัดสินใจอย่างไร? นั่นเป็นสิ่งที่จนถึงตอนนี้เรายังไม่รู้ สิ่งที่ผมอยากจะเขียนคือ พลเอกประยุทธ์จะต้องทำอะไรเพื่อให้ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และผลที่จะเกิดขึ้นตามมา เพราะนี่คือส่ิงที่จะกำหนดการเมืองไทยทั้งหมด ตั้งแต่หลังจากการตัดสินใจของพลเอกประยุทธ์ ไปจนถึงการเลือกตั้งและการตั้งรัฐบาล ซึ่งจะนำไปสู่ประเด็นสุดท้ายว่าพลเอกประยุทธ์ควรจะลงเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีหรือไม่

#ประเด็นที่หนึ่ง : ถ้าพลเอกประยุทธ์ต้องการจะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปจะต้องทำอะไรบ้าง?

ตามกติกาใหม่ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 นั้น นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. ก่อนอีกต่อไปแล้ว แต่จะต้องอยู่ในรายชื่อที่พรรคการเมืองพรรคหนึ่งพรรคใดได้แจ้งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนปิดรับสมัคร ส.ส. ว่าจะเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งพรรคการเมืองแต่ละพรรคจะเสนอได้ไม่เกิน 3 ชื่อ (มาตรา 88) ทั้งนี้ ภายใต้เงื่อนไขว่าพรรคการเมืองนั้นต้องได้ ส.ส. ไม่น้อยกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ คือ 25 คน (มาตรา 159) โดยในช่วง 5 ปีแรก การเลือกนายกรัฐมนตรีจะกระทำใน ‘ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา’ (บทเฉพาะกาล มาตรา 272)

สภาที่จะลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี จึงไม่ใช่แค่สภาผู้แทนราษฏร แต่วุฒิสภาจะร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย โดยผู้ที่จะได้รับการทูลเกล้าให้ทรงโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี จะ ‘ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา’ (มาตรา 272) ส.ส. มี 500 คน ส.ว. มี 250 คน รวมเป็น 750 คน กึ่งหนึ่งเท่ากับ 375 มากกว่ากึ่งหนึ่งก็คือต้องได้ 376 เสียงขึ้นไป

ดังนั้น ตามกติกาดังที่ได้กล่าวมา สิ่งที่พลเอกประยุทธ์ต้องทำ ถ้าต้องการเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป มีดังต่อไปนี้คือ

#เรื่องที่หนึ่ง ตอบรับเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีของพรรคใดพรรคหนึ่ง ซึ่งต้องตอบรับและแจ้ง กกต. ภายในวันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์นี้

#เรื่องที่สอง การที่ต้องมีเสียงในที่ประชุมรัฐสภายกมือเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างน้อย 376 เสียง พลเอกประยุทธ์ก็ต้องเลือก ส.ว. ที่มั่นใจได้ว่าจะเลือกตนเองเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็จะทำให้ได้แล้ว 250 เสียง ก็จะขาดจำนวน ส.ส. อีก 126 เสียงเท่านั้น

#เรื่องที่สาม ต่อเนื่องจากข้อสอง การที่ต้องทำให้มี ส.ส. อย่างน้อย 126 คนยกมือให้เป็นนายกรัฐมนตรี คำถามคือลำพังเพียงพรรคที่เสนอชื่อพลเอกประยุทธ์เป็นว่าที่นายกรัฐมนตรี จะได้จำนวน ส.ส.ถึงจำนวนนี้หรือไม่? คำตอบคือ แม้ว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 จะได้ออกแบบระบบเลือกตั้งที่ลดขนาดพรรคใหญ่ แต่ก็ไม่ง่ายที่พรรคที่เสนอชื่อพลเอกประยุทธ์จะได้จำนวน ส.ส. ถึง 126 คน แต่อย่างไรก็ตามก็ไม่ยากที่จะดึงพรรคอื่นมาร่วมรัฐบาลเพื่อให้มี ส.ส. ยกมือให้ถึง 126 คน

ถ้าวิเคราะห์เพียงเท่านี้ ภายใต้กติกาตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พลเอกประยุทธ์จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีแน่ถ้าอยากจะเป็น แต่ปัญหาจริงๆ คือ การมี ส.ส.แค่ 126 หรือมากกว่านั้นแต่ไม่ถึงครึ่งคือ 250 รัฐบาลจะเป็นเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎร แล้วจะผ่านร่างพระราชบัญญัติต่างๆ ได้อย่างไร และต้องไม่ลืมว่าสูตรตั้งรัฐบาลสูตรนี้ (ส.ว. 250 คน บวกกับ ส.ส. ของพรรคที่เสนอชื่อพลเอกประยุทธ์และพรรคอื่นอีกอย่างน้อย 126 คน) ฝ่ายค้านคือพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ และไม่ว่าพรรคฝ่ายค้านจะเป็นพรรคใดก็ตาม ฝ่ายค้านที่มี ส.ส. เกินครึ่ง จะสามารถปลดนายกรัฐมนตรีด้วยการลงมติไม่ไว้วางใจได้อย่างง่ายดาย

ดังนั้น การจะเป็นนายกรัฐมนตรีและอยู่ได้ พลเอกประยุทธ์ต้องมี ส.ส.อย่างน้อยครึ่งหนึ่งคือ 250 คน ในการเลือกตั้งในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาพรรคการเมืองใหญ่สองพรรคได้ ส.ส. รวมกันเกินครึ่งเสมอ และในคราวนี้ แม้ว่าสองพรรคนี้อาจจะได้ ส.ส.น้อยลงจากระบบเลือกตั้งใหม่ แต่จากโพลและการคาดการณ์จากคะแนนเสียงที่เคยได้ ก็ยังน่าเชื่อว่าสองพรรคใหญ่จะได้ ส.ส. รวมกันแล้วมากกว่าครึ่ง นั่นหมายความว่า การตั้งรัฐบาลให้ได้ ส.ส. อย่างน้อยครึ่งหนึ่ง จะต้องมีพรรคหนึ่งพรรคใดในสองพรรคนี้มาร่วมรัฐบาล

และนี่คือสิ่งที่ต้องทำเป็น #เรื่องที่สี่ คือต้องดึงพรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคเพื่อไทย มาร่วมรัฐบาลด้วย จึงจะสามารถเป็นรัฐบาลที่อยู่ได้ คำถามคือพลเอกประยุทธ์จะชวนพรรคไหน และพรรคไหนในสองพรรคนี้ที่ ส.ส. ของพรรคจะยกมือให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี?

#ประเด็นที่สอง : แล้วพรรคการเมืองใดในสองพรรคใหญ่ที่จะยกมือให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี?

ถ้าพลเอกประยุทธ์ลงเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรี การเมืองไทยจะกลายเป็นการเมืองแบบ ‘สามก๊ก’ สองก๊กเดิมคือพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ก๊กที่สามคือ ส.ว. ร่วมกับพรรคที่เสนอชื่อพลเอกประยุทธ์ โดยเนื่องจากไม่น่าจะมีก๊กไหนในสองก๊กเดิมสามารถมีจำนวนเสียงถึง 376 เสียง และก๊กใหม่ แม้ว่าจะมีเสียง ส.ว. ยืนพื้นแล้ว 250 เสียง แต่ก็ต้องมีเสียง ส.ส. อีก 250 เสียงจึงจะอยู่ได้ นั่นหมายความว่า รัฐบาลหลังเลือกตั้งจะเกิดจากการรวมกันของสองก๊กในสามก๊กนี้ ซึ่งการรวมกันจะมีได้ 3 แบบคือ

#แบบที่หนึ่ง พรรคที่เสนอชื่อพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี ร่วมกับพรรคเพื่อไทย และ ส.ว. ซึ่งน่าจะเป็นไปได้ยากที่สุด

#แบบที่สอง พรรคที่เสนอชื่อพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี ร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ว. ซึ่งมีความเป็นไปได้ แต่พรรคประชาธิปัตย์จะมายกมือให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีได้อย่างไรถ้าพรรคที่เสนอชื่อพลเอกประยุทธ์ไม่ได้ ส.ส. มาเป็นอันดับหนึ่ง พูดง่ายๆ คือ สูตรนี้จะเป็นไปได้ หากพรรคที่เสนอชื่อพลเอกประยุทธ์เป็นนายกได้จำนวน ส.ส. มากกว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ แต่นั่นจะเป็นไปได้หรือไม่?

#แบบที่สาม พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ตั้งรัฐบาลร่วมกัน ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ แต่ก็ยังเป็นไปได้มากกว่าแบบที่หนึ่งที่พรรคที่เสนอชื่อพลเอกประยุทธ์ตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคเพื่อไทย และอย่าลืมว่านี่คือการเมืองแบบสามก๊ก ที่มี คสช. ลงมาเป็นอีกก๊กหนึ่ง ไม่ใช่ในแบบมีสองฝ่ายเหมือนเดิมอีกต่อไป

ทั้งสามแบบหรือสามสูตรนี้ โอกาสของพลเอกประยุทธ์คือสูตรที่สอง ในเงื่อนไขคือพรรคที่เสนอชื่อพลเอกประยุทธ์ต้องได้ ส.ส. มากที่สุด ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย และอย่าลืมว่าแม้โพลของบางสถาบันจะได้ผลโพลที่พลเอกประยุทธ์ยังเป็นคนที่ประชาชนต้องการให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุด แต่ตัวเลขก็เพียง 20 กว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น และสิ่งที่ยังไม่ได้พูดกันคือนั่นหมายความว่า ตามโพลนี้คนอยากให้คนอื่นที่ไม่ใช่พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีมีมากถึง 70 กว่าเปอร์เซ็นต์

#ประเด็นที่สาม : ผลทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังจากพลเอกประยุทธ์ลงเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรี

ถ้าพลเอกประยุทธ์จะลงเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรี ก็ต้องดำเนินการตามที่กล่าวมาข้างต้น ผลทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นเป็น #ประการแรก เลยคือ พลเอกประยุทธ์จะกลายเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับผลการเลือกตั้ง จะทำอะไรจากนี้ไป ไม่ว่าจะเป็นการลงพื้นที่ การจัดรายการโทรทัศน์ในวันศุกร์ การอนุมัติงบประมาณช่วยเหลือประชาชน ต่อให้จะมีเจตนาหรือไม่ ก็จะถูกมองเป็นการหาเสียงไปเสียทั้งหมด และเมื่อรัฐมนตรี 4 คนที่ไปทำงานพรรคพลังประชารัฐลาออกจากตำแหน่ง แรงกดดันก็จะมาที่พลเอกประยุทธ์มากขึ้นไปอีก

#ประการที่สอง เสียงเรียกร้องและแรงกดดันอาจจะมิใช่ให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่จะเป็นการให้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้า คสช. ด้วยเหตุผลว่า หัวหน้า คสช. มีอำนาจตามมาตรา 44 ที่สามารถสั่งการได้ทุกอย่าง ทั้งนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญเสมอ ต่อให้พลเอกประยุทธ์จะไม่ใช้อำนาจตามมาตรานี้อีก แต่เสียงเรียกร้องกดดันจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

#ประการที่สาม ถ้าต้องการเป็นนายกรัฐมนตรี เสียง ส.ว. 250 คนต้องได้คนที่มั่นใจว่าจะยกมือให้พลเอกประยุทธ์ทั้งหมด สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ คือ จำนวนว่าที่ ส.ว. ที่มาจากการเลือกกันเอง 200 คนที่ใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก จะได้เป็น ส.ว. ได้เพียง 50 คนจากการเลือกของ คสช. เท่านั้น และ ส.ว. สรรหาอีก 194 คน คสช. ก็จะเลือกมาจากรายชื่อ 400 คนที่คณะกรรมการสรรหาที่ คสช. แต่งตั้งได้สรรหามาให้ ซึ่ง คสช. ก็จะเจอกับคำถามเดียวกัน คือหลักเกณฑ์ในการเลือกคืออะไร ใช่เลือกเพื่อตัวเองหรือไม่ ซึ่งจะทำให้ คสช. จะอยู่ในภาวะขาลงยิ่งขึ้นไปอีก

#ประการที่สี่ การเลือกตั้งถ้ามีปัญหาข้อสงสัยเรื่องความไม่เที่ยงธรรมขึ้นมา ต่อให้ไม่เกี่ยวกับ คสช. แต่คนก็จะมาลงที่ คสช.แน่ เพราะ คสช. ได้กลายเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับผลการเลือกตั้งไปเสียแล้ว

กล่าวโดยสรุป ผลที่ตามมาจะเป็นลบกับ คสช. ทั้งหมด และจะเป็นลบต่อการเลือกตั้ง รวมถึง ส.ว. ที่จะอยู่ไปถึง 5 ปีด้วย

#ประเด็นสุดท้าย : พลเอกประยุทธ์ควรจะลงว่าที่นายกรัฐมนตรีหรือไม่

ถ้าพลเอกประยุทธ์จะลงว่าที่นายกรัฐมนตรีก็จะต้องเผชิญกับคำถามมากมาย ที่ไม่มีทางทำให้คนที่ไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ และแม้กระทั่งคนที่อยู่ตรงกลางๆ เข้าใจได้ และดังที่กล่าวในประเด็นที่สองไปแล้ว คือต่อให้อยากเป็นโอกาสที่จะได้เป็นก็มีน้อย หรือถ้าเป็นได้ก็ไม่น่าจะอยู่ได้นาน

โมเดลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่เป็นนายกรัฐมนตรีถึง 8 ปีครึ่งนั้น พลเอกประยุทธ์ไม่อาจจะเอามาใช้ได้ในสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน เพราะพลเอกเปรมมิได้ยึดอำนาจ มิได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่คนจำนวนไม่น้อยเห็นว่ามีการสืบทอดอำนาจ และมิได้เสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้ง ด้วยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 ที่บังคับใช้ในขณะนั้นไม่มีกติกานี้

ดังนั้น ทางเลือกที่น่าจะดีที่สุดสำหรับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คือถอยกลับสู่สถานะ ‘คนกลาง’ ที่ไม่มีส่วนได้เสียกับผลการเลือกตั้ง ด้วยการไม่ลงว่าที่นายกรัฐมนตรี คำถามและแรงกดดันในเรื่องต่างๆ ทั้งเรื่องมาตรา 44 เรื่องการเลือก ส.ว. เรื่องการทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี และเรื่องการเลือกตั้งก็จะคลายลงไป

แน่นอนว่าพลเอกประยุทธ์มีสิทธิที่จะลงเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรี เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ห้ามไว้ แต่ที่ผมเขียนไปทั้งหมดนี้คือเรื่อง #ควรหรือไม่ควร ถึงอย่างไรพลเอกประยุทธ์ก็จะมีเสียง ส.ว. ในการ ‘ต่อรอง’ หน้าตารัฐบาลใหม่ และกำหนดการทำงานของรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้งได้พอสมควรอยู่แล้ว รัฐบาลใหม่ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหนยังไงก็ต้องเกรงใจ ส.ว. ที่ คสช. ได้แต่งตั้งขึ้นไว้ และพรรคการเมืองไม่ว่าจะรวมเสียง ส.ส. ได้มากแค่ไหนก็ไม่มีทางที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เลยหากไม่ได้เสียง ส.ว. สนับสนุนถึง 1 ใน 3 ซึ่งไม่มีทางได้เลยถ้าคนที่เลือก ส.ว. ไว้ คือ คสช. ไม่เอาด้วย

นี่น่าจะเป็นการเมืองในระยะเปลี่ยนผ่าน 5 ปีหลังเลือกตั้ง ทั้งนี้ตามวาระของ ส.ว. ชุดแรก ที่ก็เป็นการประนีประนอมมากพอสมควรแล้ว และดังนั้น การไม่ลงเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรี น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ทั้งต่อตัวพลเอกประยุทธ์ และต่อประเทศไทยในระยะเปลี่ยนผ่านกลับสู่ประชาธิปไตยอีกครั้ง.


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่