หน้าแรก Article ปัง ไม่ปัง พังพินาศ ! เทียบนโยบาย 4 พรรคหลัก ศึกเลือกตั้ง 62

ปัง ไม่ปัง พังพินาศ ! เทียบนโยบาย 4 พรรคหลัก ศึกเลือกตั้ง 62

0
ปัง ไม่ปัง พังพินาศ ! เทียบนโยบาย 4 พรรคหลัก ศึกเลือกตั้ง 62
Sharing

โค้งสุดท้ายศึกเลือกตั้ง ชนะแพ้ หาใช่เพียงขายอุดมการณ์ แต่ต้องชูนโยบาย สร้างความหวังให้กับประชาชน สำหรับพรรคการเมือง ซึ่งขยับขึ้นมาเป็นผู้เล่นหลักในสนามการเมืองไทย เริ่มขายของกันแล้ว

เริ่มจากพรรคไทยรักษาชาติ หรือที่เรียกกันว่าพรรค “ทักษิณ ชินวัตร” ใช้นายจาตุรนต์ ฉายแสง กรรมการยุทธศาสตร์ เป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก ได้ภาพลักษณ์ด้านการเป็นนักต่อสู้ทางการเมือง ที่มีความใกล้ชิดกับพรรคไทยรักไทย และพรรคเพื่อไ ทย เป็นบุคลากรคนสำคัญ ในฝ่ายของเครือข่าย ดร.ทักษิณ สะท้อนภาพความใกล้ชิดกับนายใหญ่ ตอกย้ำภาพชัด พรรคนี้ ใครอยู่เบื้องหลัง

นายจาตุรนต์ สรุปนโยบายของพรรค ด้วยการกล่าวโจมตีรัฐบาล “บิ๊กตู่” สะท้อนผ่านปัญหาของประเทศ

“ในขั้นนี้ขอเริ่มด้วยการตั้งโจทย์เสียก่อน ประเทศนี้มีปัญหามากมายสะสมมา ดังนี้ 1.เศรษฐกิจเติบโตช้า 2.เกษตรกรยากจน/ประชาชนรายได้ตกต่ำ 3.หนี้ครัวเรือนเพิ่ม 4.รวยกระจุก จนกระจาย 5.ส่งออกต่ำ/ท่องเที่ยวลด 6.สังคมเหลื่อมล้ำ 7.ยาเสพติดเกลื่อนเมือง 8.คอร์รัปชั่นสูง 9.การศึกษาล้าหลัง และ 10.มลภาวะในเมืองใหญ่”

ก่อนจะพูดถึงนโยบายของพรรค เน้นเรื่องของอุดมการณ์ เพื่อแก้ปัญหาปากท้อง ประกอบไปด้วย

1.รัฐบาลจากการเลือกตั้งต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นเพื่อฟื้นการลงทุนจากในและต่างประเทศ 2.สร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน

“3.เร่งการส่งออกโดยใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเดิม 12 ฉบับมากขึ้น 4.เร่งส่งเสริมการค้าชายแดน สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นและแก้ไขกฎระเบียบที่อุปสรรค 5.เพิ่มและกระจายรายได้จากการท่องเที่ยว 6.ปรับปรุงการจัดทำงบประมาณให้มีประสิทธิภาพเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ปรับลดงบประมาณกลาโหม และอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นลง 7.เร่งลงทุนใน Mega project ด้านคมนาคม 8.เปิดรับและจัดระบบแรงงานข้ามชาติใหม่ ไทยรักษาชาติมีความพร้อมในการเสนอนโยบายเต็มที่”

ทั้งนี้ เป็นการปล่อยนโยบายแบบชิมลาง ก่อนที่พรรคจะทยอยปล่อยของจริงออกมา จุดเด่นของนโยบายพรรคไทยรักษาชาติ หาใช่อยู่ที่ตัวนโยบาย แต่อยู่ที่พรรคนี้ เป็นพรรคเครือข่ายของพรรคเพื่อไทยที่มีฐานเสียงแน่นปึ๊ก ชนิดว่าต่อให้ปล่อยนโยบายอะไรมาคนต้องเงี่ยหูฟัง แต่จะจำได้หรือไม่นั่นอีกเรื่องหนึ่ง

เพราะต้องยอมรับว่าแต่ละนโยบายยังขาดตัวอย่างความเป็นรูปธรรม และดูเป็นเรื่องเก่า เล่าใหม่ ที่สำคัญ ฝ่ายตรงข้ามยังโจมตีด้วยคำว่า “โกง” ซึ่งเป็นหนามยอกอกของเครือข่ายเสี่ยแม้ว ยิ่งกว่านั้น โอกาสจะได้ตั้งรัฐบาล และทำตามนโยบายก็มีไม่มากนัก เพราะอีกฝ่ายเล่นแรง และไม่ยอมให้เสียของแน่นอน

มาต่อกันที่พรรคภูมิใจไทย ขับเคลื่อนนโยบายผ่านหัวหน้าพรรค นายอนุทิน ชาญวีรกูล นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จระดับสูง ได้ภาพคนทำงานจริง มาทำนโยบาย แนวคิดที่น่าสนใจ

Sharing Economy : สนับสนุนให้ธุรกิจแบ่งปัน อาทิ Grab และ Airbnb(ที่พัก) เป็นการให้บริการที่ถูกกฎหมาย ทั้งนี้ พรรคภูมิใจไทย ได้ร่างกฎหมายเตรียมไว้แล้ว

Thailand Sharing University : สนับสนุนให้การเรียนออนไลน์ เป็นการศึกษาทางหลัก หลังเรียนจบต้องมีวุฒิเป็นที่ยอมรับ ใช้เทียบโอนศึกษาต่อ และอ้างอิง ในการทำงานได้จริง

Profit Sharing : สนับสนุนให้ภาคการเกษตรทั้งระบบต้องแบ่งปันกำไรอย่างเป็นธรรมระหว่างเกษตรกร และพ่อค้า

ปัจจุบัน ภูมิใจไทย เสนอให้ตั้งกองทุนข้าว คณะกรรมการประกอบด้วย ชาวนา โรงสี พ่อค้า ต้องทำหน้าที่กำหนดการผลิต และแบ่งปันผลกำไรจากข้าวถุงและข้างส่งออก ในอัตราส่วน 75%(ชาวนา) – 10%(โรงสี) -15%(พ่อค้า) ช่วยยกระดับราคาข้าวเปลือกจากเดิม 1-3 พันบาทตามแต่ชนิด และคุณภาพข้าว

ปาล์มไฟฟ้า : สนับสนุน ให้นำปาล์มน้ำมันมาผลิตไฟฟ้า ยกระดับราคาจากกิโลกรัมละ 2 บาท เป็น 4.5 บาท และสร้างการบริโภคอย่างยั่งยืน

ในระยะยาวคาดว่าชาวสวนยางจะหันมาปลูกปาล์มสนองความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น ช่วยลดอุปทานยางเข้าสู่จุดสมดุล

แก้กฎหมายประมง : สนับสนุนให้วางกฎกรอบการทำประมงไทยเสียใหม่ เพราะในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา รัฐไทยออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องไปแล้วกว่า 300 ฉบับ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อบังคับของ eu

พักหนี้ กยศ. : ทอดเวลาการชำระหนี้ออกไปเป็น 5 ปี ไม่มีเบี้ยปรับ ไม่มีดอกเบี้ย และการกู้ยืมเพื่อการศึกษา ต้องไม่มีผู้ค้ำประกันอีกต่อไป เป้าหมาย เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม

Buriram Model : สนับสนุนให้เมืองรองกลายเป็นเมืองหลักด้วยการจัด Event ด้านกีฬาในพื้นที่ ประสบความสำเร็จมาแล้วที่ จ.บุรีรัมย์ กัญชาเสรี : กัญชากลายเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของโลก มีประโยชน์ด้านการแพทย์อย่างยิ่ง ถึงเวลาที่ไทย จะถือโอกาสนี้ เข้าไปแชร์ส่วนแบ่งการตลาด และให้พี่น้องประชาชนมีโอกาสทำรายได้จากพืชชนิดนี้ พรรคภูมิใจไทยเสนอให้ 1 ครับเรือน ปลูกได้ 6 ต้น สร้างรายได้ 4.2 แสนบาทต่อครัวเรือน/ปี

นโยบายภูมิใจไทย เป็นส่วนผสมของความหวือหวา แต่พูดได้ ทำได้ เพราะเน้นไปในเรื่องของการแก้กฎหมาย ไม่แตะเรื่องโครงสร้างการเมือง จึงไม่ขัดขาใคร และมีโอกาสที่จะได้ปฏิบัติสูง

ทั้งนี้ พรรคภูมิใจไทยวางตัวเป็นกลาง เป็นผู้เล่นเนื้อหอมที่ทุกฝ่ายอยากได้ตัว แว่วกันว่านโยบายแบ่งปันกำไรข้าวคือเรือธง ที่พรรคมุ่งมั่นจะทำให้สำเร็จ

สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นพรรคเก่าแก่ ยังชูนโยบายเรื่องรัฐสวัสดิการ และยืนหยัดในแนวทางเดิม จึงไม่จำเป็นต้องมาอธิบายความกันใหม่ พูดปุ๊บ เข้าใจปั๊บ รัฐสวัสดิการ ต้องประชาธิปัตย์เท่านั้น

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ระบุว่าเบื้องต้นพรรคมีนโยบายแก้ปัญหาปากท้อง 6 ข้อ

“1 โครงการโฉนดสีฟ้า โดยการออก พ.ร.บ.โฉนดชุมชน ให้สิทธิ์ในการจัดการไปยังชุมชนอย่างแท้จริง

2.น้ำถึงทุกไร่นา จัดตั้ง “กองทุนน้ำชุมชน” เพื่อให้เกษตรกรมีน้ำใช้ตลอดปี 3.ประกันรายได้เกษตรกร 4.ประกันรายได้แรงงาน เป้าหมายค่าแรงของคนไทยต้องไม่ต่ำกว่า 120,000 บาท/ปี

5.เบี้ยผู้ยากไร้ 800 บาท/เดือน 6.เบี้ยผู้สูงอายุ 1,000 บาท/เดือน โอนตรงสู่บัญชีผู้สูงอายุรับ 1,000 บาท เพื่อดูแลค่าครองชีพและจุนเจือชีวิตความเป็นอยู่ในวัยเกษียณ และย้ำว่าหากพรรคได้เป็นรัฐบาลจะสามารถดำเนินการ 6 นโยบายได้ทันที”

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ เจ็บหนักจากคำว่า “ดีแต่พูด” การชูนโยบายจึงมักถูกฝ่ายตรงข้ามค่อนขอด เช่นกันกับการเลือกตั้งครั้งนี้ งานหนักคือพรรคต้องแก้วาทกรรมดังกล่าวให้ได้ ก่อนจะวาดฝันให้คนทั้งประเทศ

สุดท้ายที่พรรคพลังประชารัฐ ของนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน การที่เป็นคนซึ่งมีอำนาจบริหาร แล้วกระโดดมาเล่นการเมือง จึงมักถูกตั้งคำถามว่า “แล้วทำไม ก่อนหน้านั้น ไม่ยอมทำ”

นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงนโยบายของตัวเองว่า

พรรคพลังประชารัฐ จะสร้างชาติไทยอย่างยั่งยืน ผ่าน 3 พันธกิจ คือ สวัสดิการประชารัฐ สังคมประชารัฐและเศรษฐกิจประชารัฐ โดยแต่ละด้านจะผ่านนโยบายสำคัญ 7 เรื่อง หรือเรียกสั้น ๆ 3 พันธกิจ 7:7:7 นโยบายหลัก

ประกอบไปด้วย ด้านสวัสดิการประชารัฐ จะมีบัตรประชารัฐ เน้นสร้างหลักประกันให้ผู้มีรายได้น้อย สวัสดิการรายกลุ่ม อาทิ ผู้สูงอายุ คนพิการ สตรี ผู้ใช้แรงงานและอาชีพรับจ้าง สวัสดิการคนเมือง หมดหนี้มีเงินออม ช่วยทุเลาภาระหนี้แก่ผู้ใช้รายงาน ชาวนา ข้าราชการ ครู นักศึกษาและเอสเอ็มอี โครงการบ้าน 1,000,000 หลัง เป็นต้น ด้านสังคมประชารัฐ เน้นนำการศึกษา 4.0 เตรียมความพร้อมเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เมืองอัจฉริยะสีเขียวเพื่อความสุขของทุกคนคนต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สังคมประชารัฐสีขาว สังคมสีขาว ปลอดภัย ปลอดโรคและปลอดยา ด้านสุดท้ายคือ เศรษฐกิจประชารัฐ

จะยกระดับความสามารถผู้ผลิต สมาร์ทเอสเอ็มอี 1 ล้านค้าปลีกชุมชน ก้าวสู่เกษตรประชารัฐ 4.0 โครงสร้างการเกษตร 3 เพิ่ม รายได้ นวัตกรรม ทางเลือก 3 ลด ภาระหนี้ ความเสี่ยง ต้นทุน กระจายรายได้กระจายโอกาสด้วยการท่องเที่ยวชุมชน เศรษฐกิจสร้างสรรค์และเศรษฐกิจแบ่งปัน ลดอุปสรรคเพิ่มโอกาสในด้านธุรกิจ ปฏิรูประบบราชการให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง

อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนที่สุดของนโยบายพรรคพลังประชารัฐคือ นโยบายพรรคสอดรับกับนโยบายของรัฐบาล และชี้วัดประสิทธิภาพด้วยผลงานของรัฐบาล ดังนั้น จึงต้องมาดูว่ารัฐบาลมีผลงานที่ถูกใจประชาชนแค่ไหน

เหล่านี้ คือนโยบายปากท้องของ 4 พรรคหลักการเมืองไทย นโยบายพรรคไหนจะปัง หรือจะพัง หลังเลือกตั้ง ได้รู้กัน

Ringsideการเมือง


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่