องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International — TI) เผยแพร่ผลการจัดอันดับความโปร่งใสของแต่ละประเทศ ผลปรากฏว่า ประเทศไทยได้ 36 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ถูกลดอันดับลงจากอันดับที่ 96 เมื่อปี 2560 ซึ่งได้คะแนน 37 คะแนน เป็นอันดับที่ 99 ขณะที่ในปี 2559 ได้คะแนน 35 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 101
“คอร์รัปชันเป็นตัวทำลายประชาธิปไตย และนำไปสู่วงจรอุบาทว์ คอร์รัปชันบ่อนทำลายสถาบันประชาธิปไตย และเมื่อสถาบันมีความอ่อนแอก็ไม่สามารถจัดการกับคอร์รัปชันได้” แพทริเซีย โมเรียรา ผู้อำนวยการทั่วไปของ TI ระบุ
ดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชันในภาครัฐทั่วโลกในปีที่แล้วชี้ว่า 2 ใน 3 ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทำคะแนนได้ไม่ถึง 50 คะแนน ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในนั้นโดยทำคะแนนได้ 36 คะแนน ขณะที่คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 43
ประเทศที่อยู่ในอันดับต้นๆ ของ CPI ได้แก่ เดนมาร์ก และนิวซีแลนด์ โดยทำคะแนนได้ 88 และ 87 ตามลำดับ ประเทศรั้งท้ายได้แก่ โซมาเลีย เซาท์ซูดาน และซีเรีย ทำคะแนนได้ 10,13 และ 13 ตามลำดับ
จากการวิเคราะห์ของ TI พบความสัมพันธ์ระหว่างการคอร์รัปชันและความเป็นประชาธิปไตย โดยประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยเต็มที่จะทำคะแนน CPI ได้เฉลี่ยประมาณ 75 คะแนน ส่วนประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยต่ำ จะทำคะแนนได้เฉลี่ยประมาณ 49 คะแนน และประเทศที่มีการปกครองแบบผสมโดยมีแนวโน้มไปทางเผด็จการนั้น มีคะแนนเฉลี่ยราว 35 ขณะที่ประเทศที่เป็นเผด็จการมีคะแนนต่ำที่สุดคือเฉลี่ยราว 30
ด้านนายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า ในการให้ค่าคะแนน CPI ปี 2018 องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI) ให้คะแนนและจัดอันดับประเทศไทย โดยพิจารณาข้อมูลจากแหล่งข้อมูล 9 แหล่งข้อมูล ซึ่งไทยได้คะแนนเท่าเดิม 6 แหล่ง คะแนนลดลง 3 แหล่ง ได้แก่ 1. ด้านพัฒนาการจัดการสถาบันระหว่างประเทศ 2. ด้านการให้คำปรึกษาความเสี่ยงทางการเมืองและเศรษฐกิจ และ 3. ด้านความหลากหลายของโครงการประชาธิปไตย ซึ่งพิจารณาจากการถ่วงดุลของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ตลอดจนการทุจริตของเจ้าหน้าที่ในฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ
นายวรวิทย์กล่าวอีกว่า ที่คะแนนลดลงน่าจะเป็นเพราะปีที่ผ่านมาสังคมโลกมองว่าไทยยังขาดความชัดเจนเกี่ยวกับการเลือกตั้ง มีข้อจำกัดเรื่องสิทธิเสรีภาพบางประการเพื่อความสงบเรียบร้อยของประเทศ ทำให้การถ่วงดุลของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และกระบวนการยุติธรรมยังไม่ชัดเจน