หน้าแรก news กต. กักตัวอาคิมต่อ หวัง “ออสเตรเลีย บาห์เรน” แก้ปัญหากันเอง

กต. กักตัวอาคิมต่อ หวัง “ออสเตรเลีย บาห์เรน” แก้ปัญหากันเอง

0
กต. กักตัวอาคิมต่อ หวัง “ออสเตรเลีย บาห์เรน” แก้ปัญหากันเอง
Sharing

จากกรณี นายฮาคีม อัล อาไรบี อดีตนักฟุตบอลชาวบาห์เรนที่ถูกทางการไทยจับกุมตัว ระหว่างเดินทางพร้อมครอบครัวมาท่องเที่ยวยังประเทศไทย วานนี้ (4 ก.พ.) เฟซบุ๊กกรมประชาสัมพันธ์ @prdofficial ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับข้อเท็จจริง และท่าทีของทางการไทยต่อกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า ประเทศไทยไม่รู้จัก และไม่มีอคติกับนายฮาคีมมาก่อน โดยการจับกุมเกิดจากการแจ้งเตือนเรื่องหมายแดง (คำขอให้ค้นหาและควบคุมตัวบุคคลเพื่อรอการส่งตัวข้ามแดน) จากอินเตอร์โพลของทางออสเตรเลียเอง ทำให้ตอนนี้เรื่องอยู่ในกระบวนการของศาลซึ่งทางรัฐบาลไม่สามารถแทรกแซงฝ่ายตุลาการได้

ยืนยันอย่าเพิ่งสรุปว่าทางการไทยจะส่งตัวนายฮาคีมให้กับบาห์เรน โดยทุกฝ่ายต้องส่งข้อมูลเอกสารหลักฐานให้กับศาลไทยพิจารณา ส่วนอีกทางหนึ่งคือออสเตรเลียและบาห์เรนต้องพูดคุยหาทางออกร่วมกันด้วยความจริงใจ โดยประเทศไทยยินดีพร้อมช่วยส่งเสริม

“1. ประเทศไทยไม่รู้จักนายฮาคีม ไม่มีอคติต่อตัวบุคคลและคงไม่ยุ่งเกี่ยวกับการมาไทยจนถูกคุมตัวจับกุมของนายฮาคีม หากไม่ใช่ Interpol ของออสเตรเลียที่ได้แจ้งเตือนเรื่องหมายแดงของนายฮาคีมแต่แรก และหากทางการบาห์เรนไม่ได้มีคำร้องขออย่างเป็นทางการจากรัฐบาลให้จับกุมนายฮาคีมและส่งผู้ร้ายข้ามแดน

2. ขณะนี้เรื่องได้เข้าสู่กระบวนการศาลแล้ว ในการเดินตามขั้นตอนของกฎหมาย ฝ่ายบริหารไม่สามารถแทรกแซงฝ่ายตุลาการได้ซึ่งเป็นหลักสากลและเชื่อว่าออสเตรเลียก็ยึดถือหลักการนี้เช่นเดียวกัน

3. ขออย่าได้ด่วนสรุปว่าไทยจะส่งตัวนายฮาคีมให้กับบาห์เรน เรื่องนี้ศาลจะพิจารณาตามหลักฐานที่มีอยู่ซึ่งมีพื้นฐานจากหมายจับ/หมายศาลของบาห์เรน เมื่อเขาหนีความผิดตามกฎหมายของประเทศบาห์เรนมา และบาห์เรนได้ขอให้คุมตัวเมื่อมาไทย พร้อมกับส่งเอกสารหลักฐานทาง กม.ให้ฝ่ายไทย พนักงานอัยการพิจารณาแล้วเห็นว่าเข้าเกณฑ์ตามกฎหมายที่จะส่งฟ้องต่อศาลได้ จึงดำเนินการต่อไปแล้ว

4. ขณะเดียวกันศาลไทยพร้อมรับหลักฐานทุกชิ้นทุกชนิดที่เป็นข้อเท็จจริงและเป็นธรรมต่อนายฮาคีมที่ทนายของนายฮาคีมจะนำส่งให้ศาลพิจารณา

5. ไม่มีส่วนใดของไทยที่จะได้ประโยชน์จากการควบคุมตัวนายฮาคีม แต่ในฐานะรัฐอธิปไตยที่มีพันธะทางกฎหมายและความถูกต้องต่อสังคมโลก ไทยได้มาพบว่าเพื่อนที่ดีของไทย 2 ประเทศเกิดแย่งตัวบุคคลคือนายฮาคีมที่มาประเทศไทย โดยเพื่อนคนหนึ่งออกแนวร้องขอความร่วมมือบนพื้นฐานทางกม. และความถูกต้อง แต่เพื่อนอีกคนชอบที่จะอาศัยพื้นฐานทางอำนาจการเมืองและการขยายวงกดดันผ่านแนวร่วม ในภาวะดังกล่าวไทยมีทางเดินอันชอบธรรมเพียงว่า (1)ให้ความร่วมมือทางด้านกม.และ (2)เสนอแนะให้เพื่อนที่ดีทั้งสองนี้ ซึ่งโดยข้อเท็จจริงทั้งสองฝ่ายก็เป็นเพื่อนที่ดีต่อกันด้วย หันหน้าหารือ หาทางออกในปัญหาซึ่งเป็นของตนเองเสีย แทนการคิดผลักดันหาทางออกทางอ้อมจากไทยซึ่งเผอิญจับพลัดจับผลูมาอยู่ในภาพของประเด็นปัญหานี้ซึ่งเพื่อน 2 ประเทศของไทยมีระหว่างกันมาแต่ก่อน

6. การขอให้ออสเตรเลียกับบาห์เรนคุยกัน หาทางออกร่วมกัน จึงเป็นท่าทีโดยชอบธรรมของไทย และไม่ว่าแนวทางออกร่วมกันดังกล่าวจะมาในรูปแบบใด ไทยก็ยินดีจะช่วยส่งเสริมให้เป็นจริงและบรรลุผลสัมฤทธิ์ที่เป็น win-win

7. ไทยหวังว่าทั้งออสเตรเลียและบาห์เรนจะมีมิตรไมตรีที่ดีเพียงพอที่จะจริงใจร่วมกันหาทางออกของเรื่องนี้ หากผลลัพธ์เป็น win-win เชื่อได้แน่นอนว่า คนไทยและผู้คนในภาคส่วนต่าง ๆ ของโลกที่รับรู้เรื่องนี้จะสรรเสริญทั้งออสเตรเลียและบาห์เรนอย่างแน่นอน”

ขอบคุณข่าว : ผู้จัดการ


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่