หน้าแรก news รวมความเห็นยุบพรรค ทษช. ทำได้ หรือ ไม่ได้?

รวมความเห็นยุบพรรค ทษช. ทำได้ หรือ ไม่ได้?

0
รวมความเห็นยุบพรรค ทษช. ทำได้ หรือ ไม่ได้?
Sharing

จากกรณีที่พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) เสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค จะมีความผิดหรือไม่ และจะถึงขั้นยุบพรรคการเมืองได้หรือไม่นั้น

สำนักข่าวไทย รายงานว่า รศ.ดร.เจษฎ์ โทนะวณิก นักวิชาการด้านกฎหมาย เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 92 ระบุว่า เมื่อ กกต. มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองกระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ข้อกฎหมายดังกล่าวน่าจะสอดคล้องกับข้อความในพระราชโองการ ซึ่ง กกต. จะต้องไปดำเนินการ ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณา ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลที่อาจจะสั่งยุบพรรคหรือสั่งการอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งหากยุบพรรค กรรมการบริหารพรรคจะถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง 10 ปี ทั้งนี้หากพรรคไทยรักษาชาติเห็นว่ามีความเสี่ยงที่จะถูกยุบพรรคก็ต้องพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

ขณะที่นาย นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ระบุว่า  ตามมาตรา 88 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ให้สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี หรือ ที่เรียกว่าบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรี เมื่อเช้าวันที่ 8 ก.พ. 2562นั้น ได้ก่อให้เกิดการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสังคมไทย ซึ่งก่อให้เกิดความสงสัยในหมู่ประชาชนทั่วไป ด้วยคำถามใหญ่ที่ว่า “การเสนอชื่อทูลกระหม่อมฯ” ซึ่งเป็นพระบรมจักรีวงศ์สามารถทำได้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หรือไม่ ซึ่งทางพรรคไทยรักษาชาติยืนยันว่าทำได้และถูกต้องตามรัฐธรรมนูญทุกประการเนื่องจากไม่มีบทกฎหมายใดห้ามไว้ และถูกต้องตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 89 ทุกประการนั้น

แต่เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชโองการ โปรดเกล้าฯเมื่อคืนวันที่ 8 ก.พ.62 ว่า มิให้ “ทูลกระหม่อมหญิง” ลงเล่นการเมือง เนื่องจากเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ ใกล้ชิดพระมหากษัตริย์ รวมทั้งขัดรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การเสนอชื่อ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ โดยพรรคไทยรักษาชาติจึงเป็นการเสนอผู้ที่ขาดคุณสมบัติหรือ มีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 13 วรรคสอง ประกอบมาตรา 14(2) ของพรป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561 ที่สำคัญเป็นการดำเนินการที่ละเมิดต่อข้อ 17 ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561 โดยชัดแจ้ง

ด้วยเหตุดังกล่าวสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงเห็นว่า การกระทำของพรรคไทยรักษาชาติ ขัดต่อกฎหมาย และระเบียบการหาเสียงของ กกต. ข้อ 17 อันเข้าข่ายองค์ประกอบมาตา 92(2) ของ พรป.พรรคการเมือง 2560 ซึ่ง กกต.ควรจะต้องนำกรณีดังกล่าวเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยยุบพรรคไทยรัษาชาติต่อไป

 

ด้าน อมรินทร์ทีวี รายงาน ความเห็นของ นางสดศรี สัตยธรรม อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เปิดเผยว่า สำหรับเรื่องในวันที่ 8 ก.พ. 62 ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย ส่วนพรรคไทยรักษาชาติก็ยังไม่ได้มีการหาเสียง เป็นเพียงส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเข้ามา เป็นไปตามขั้นตอน และการหาเสียงยังไม่ได้เริ่มต้น

ในเมื่อมีพระราชโองการ ซึ่งเราต้องรับเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม ซึ่งจะต้องยุติในเรื่องต่าง ๆ ทั้งข้อเท็จจริง เเละข้อกฎหมาย ไม่ควรนำเรื่องนี้เข้ามาสู่การพิจารณาของ กกต. ด้วยซ้ำ ไม่ควรมองว่าพรรคไทยรักษาชาติควรรับผิดชอบ ในเรื่องการเสนอชื่อทูลกระหม่อมฯ หรือไม่ เพราะเป็นเรื่องที่ผ่านมาเเล้ว เเละกฎหมายก็ไม่ได้บังคับว่าการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ห้ามไม่ให้เสนอชื่อบุคคลใดบ้าง

ส่วนถ้ามีการร้องเรียน เเละมีการเสนอยุบพรรค กกต.จะต้องมีการสืบสวนไต่สวน เเละอาจจะต้องทำเรื่องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญด้วย ถามว่าเราจะดึงพระองค์ท่านเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ เพราะเรื่องนี้น่าจะจบกันด้วยดี เพราะมีพระบรมราชโองการอย่างชัดเจนแล้ว เเละทุกอย่างก็ถือว่าเป็นเรื่องของพรรคการเมืองที่จะดำเนินงานกันต่อไป ทั้งนี้ การนำเรื่องนี้ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น กกต.หรือศาล ซึ่งก็จะบาดเจ็บกันทุกฝ่าย


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่