จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ได้รับการพิจารณาแต่งตั้งเป็นนายกฯ ในบัญชีของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งต่อมาผู้แสดงความเห็นทั้งแง่ทางการเมืองและแง่มุมทางกฎหมายที่น่าสนใจนั้น
ข่าวสด รายงานว่า เมื่อวันที่ 10 ก.พ.62 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) อ้างว่า ในการเสนอชื่อดังกล่าวต้องยื่นเอกสารตามที่ กกต. กำหนด 2 แบบ คือแบบ ส.ส. 4/29 ที่หัวหน้าพรรคต้องลงนามรับรองว่า การคัดเลือกได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองและข้อบังคับของพรรคการเมืองแบบ ส.ส. 4/30 ที่พล.อ.ประยุทธ์ต้องลงนามรับรองว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นนายกฯ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
ซึ่งจากการตรวจสอบข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ ข้อ 91(1) พบว่า การเสนอชื่อบุคคลคือ พล.อ.ประยุทธ์นั้น จะต้องให้พล.อ.ประยุทธ์มีหนังสือยินยอมก่อน และข้อ 91 วรรคสองระบุไว้ว่าการเสนอชื่อบุคคลใดที่มิได้เป็นไปตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าไม่มีการเสนอชื่อบุคคลนั้น
นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏ จะเห็นได้ว่าพรรคพลังประชารัฐพิจารณาคัดเลือกพล.อ.ประยุทธ์ไปก่อนที่จะมีหนังสือยินยอม กล่าวคือ ประชุมเห็นชอบเสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์เมื่อวันที่ 30 ม.ค. ต่อมาพล.อ.ประยุทธ์ได้ยินยอมและตอบรับการเสนอชื่อเมื่อวันที่ 8 ก.พ. ดังนั้นกรณีจึงไม่เป็นไปตามข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ ข้อ 91 วรรคสอง ซึ่งจะเห็นได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์มีหนังสือยินยอมภายหลัง นั่นเอง กรณีนี้จึงไม่เป็นไปตามข้อบังคับพรรค
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังอาจเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นนายกฯ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) (12) และ (15) อีกด้วย เนื่องจากมาตรา 98 (3) ห้ามเป็นเจ้าของสื่อมวลชนใดๆ แต่พล.อ.ประยุทธ์ถูกร้องว่าเป็นเจ้าของสื่อออนไลน์หลายชนิด และพล.อ.ประยุทธ์ ยังมีฐานะเป็นหัวหน้า คสช. ที่มีอำนาจตามมาตรา 44 และได้รับเงินตอบแทนอีกเดือนละ 125,590 บาท จึงอาจเข้าลักษณะเป็นข้าราชการหรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามความในมาตรา 98 (12) และ (15)
นายเรืองไกร กล่าวอีกว่า จากข้อมูลที่พบจำเป็นต้องไปร้องต่อ กกต. เพื่อให้ กกต. พิจารณาไม่ประกาศรายชื่อพล.อ.ประยุทธ์ตามแบบ ส.ส. 4/31 เนื่องจากพล.อ.ประยุทธ์เป็นบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคพลังประชารัฐ โดยไม่เป็นไปตามข้อบังคับพรรค และเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นนายกฯ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) (12) และ (15) ซึ่งโดยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 89 วรรคสอง ให้ถือว่าไม่มีการเสนอชื่อบุคคลนั้น
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แสดงความเห็นต่อเรื่องดังกล่าว โดยมุงเน้นปัญหาการตีความตำแหน่ง “หัวหน้า คสช.” ว่า
ข้ออ้างสำคัญของนายเรืองไกร คือ
(ก) พรรคลงมติเลือกพล.อ.ประยุทธ์ ก่อนหน้าที่ท่านจะลงนามให้ความยินยอม จึงอาจผิดข้อบังคับพรรค และ
(ข) พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้า คสช.ที่มีอำนาจตามมาตรา 44 และได้รับเงินตอบแทนอีกเดือนละ 125,590 บาท จึงอาจเข้าลักษณะเป็นข้าราชการหรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามความในมาตรา 98 (12) และ (15)
ผมไม่รู้ข้อมูลเกี่ยวกับข้อบังคับพรรค แต่สนใจประเด็นเรื่องการเป็นข้าราชการหรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 160 (6) บัญญัติว่า รัฐมนตรีต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98
ซึ่งมาตรา 98 ห้ามผู้ที่
(12) เป็นข้าราชการซึ่งมีตําแหน่งหรือเงินเดือนประจํานอกจากข้าราชการการเมือง
(15) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
ดังนั้น เนื่องจากพล.อ.ประยุทธ์เกษียณอายุแล้ว จึงเป็นเพียงข้าราชการบำนาญ แต่ปัญหาที่ต้องพิจารณาก็คือ การเป็นหัวหน้า คสช.ถือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่?
ถ้าเป็น ก็อาจจะหมดสิทธิ!
ผมพบว่าศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีคำวินิจฉัยที่ 5/2543 (รัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 109 (11))
หมายความว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เรียกชื่ออย่างอื่น ซึ่งมีสถานะ ตำแหน่งหน้าที่ หรือลักษณะงานทำนองเดียวกันกับพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่น โดยมีลักษณะดังต่อไปนี้
- ได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย
- มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือหน้าที่ปฎิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมาย หรือปฎิบัติงานประจำ
- อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐ
- มีเงินเดือน ค่าตอบแทน ค่าจ้าง ตามกฎหมาย
คสช.นั้นมีการแต่งตั้งตามประกาศคณะปฏิวัติและยืนยันในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 และมีอำนาจใช้มาตรา 44 จึงอาจจะเข้าลักษณะเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
เรื่องนี้เป็นปัญหา เนื่องจากพล.อ.ประยุทธ์ไม่ต้องการมีช่องว่างในการควบคุมอำนาจ จึงไม่ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลและหัวหน้า คสช.
แต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญยกเว้นเฉพาะกรณีตำแหน่งข้าราชการทางการเมือง ดังนั้น ท่านอาจจะเจอปัญหาขาดคุณสมบัติจากตำแหน่งหัวหน้า คสช.ก็ได้
ผมจึงขอเชิญชวนให้ผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจช่วยทำให้กระจ่างแก่ผู้อ่านด้วยครับ
ด้านนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นักวิชาการ นักจัดรายการวิทยุโทรทัศน์ชื่อดัง ตั้งคำถามในมุมทางการเมือง ระบุว่า ทันทีที่พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ส่งรายชื่อทูลกระหม่อมอุบลรัตน์ เป็นผู้ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สร้างความประหลาดใจ แปลกใจแก่ประชาชนจำนวนมาก ทำให้เกิดคำถามมากมายที่ต้องการหาคำตอบ ดังต่อไปนี้
1. ทำไมทูลกระหม่อมอุบลรัตน์ จึงยินดีให้พรรค ทษช. ในเครือของพรรคเพื่อไทยและระบอบทักษิณเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี
2. ทำไมข่าวที่พรรค ทษช. จะเสนอชื่อถึงได้ล่วงรู้ และออกข่าวโดยนักข่าวและสำนักข่าวต่างประเทศมาก่อน?
- ทำไมพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทหารเสือพระราชินี ผู้ทำการยึดอำนาจในนาม คสช. จึงยินดีให้พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีเข้าแข่งขัน หลังจากที่ทราบข่าวว่าพรรคไทยรักษาชาติเสนอทูลกระหม่อมอุบลรัตน์เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว
วันนี้ 3 คำถามก่อน ใครตอบได้ช่วยแนะนำทีครับ