รศ.ดร.กิตติ ลิ่มสกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยมีคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ปี 2560 มาตรา 92 ว่า สิ่งที่ กกต.ดำเนินการ ตนมองว่าเป็นการตีความทางกฎหมายที่ประหลาดมาก ซึ่งในฝั่ง ทษช.เองก็มั่นใจว่าดำเนินการรัฐธรรมนูญ จึงเป็นเรื่องของการตีความที่ขัดกันกับ กกต. แต่ตรงนี้กลับเป็นการยื่นให้ยุบพรรค ไม่ใช่ยื่นตีความ ทั้งนี้ ตนขอพูดไว้ล่วงหน้าว่า หากมีการยุบพรรค ทษช.จะทำให้ประชาชนที่ทราบความจริงรู้สึกว่าเขาไม่ได้รับความยุติธรรม และจะสร้างความโกลาหลวุ่นวาย
“แทนที่มันจะจบ แต่ กกต.กำลังดำเนินการต่อเพื่อให้ตัวเองพ้นภาระ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าศาลรัฐธรรมนูญตีความว่ายุบ กกต.ก็ส่อจะผิดด้วย”
รศ.ดร.กิตติ ยังวิเคราะห์ในแง่การเมืองว่า ต่อให้ยุบ ทษช.ได้สำเร็จแล้ว ไม่ได้หมายความว่าประชาชนจะเลือกพรรคการเมืองที่อยู่ฝั่งเดียวกับผู้มีอำนาจ ทั้งนี้ ประชาชนกำลังเลือกอยู่ว่าจะเลือกพรรคไหน ไม่จำเป็นต้องเป็นพรรคเพื่อไทยก็ได้ แต่ยังอยู่ในแนวอุดมการณ์เดียวกัน ซึ่งไม่ใช่พรรคที่เป็นรากฐานของเผด็จการแน่นอน
ส่วนความพยายามจะเชื่อมโยงไปเอาผิดพรรคเพื่อไทย ในข้อหาการครอบงำหรือการฮั้วกันนั้น ส่วนตัวก็คิดว่าไม่น่าจะทำได้ เพราะไม่มีเหตุผลที่เพียงพอ และไม่มีประเด็นจะเอาผิดได้ ส่วนบางฝ่ายจะเปรียบเทียบกับสมัยไทยรักไทยที่ถูกยุบกรณีจ้างพรรคเล็ก ตนเห็นว่าทำไม่ได้ ส่วนจะอ้างเรื่องการแตกพรรคนั้น ก็ถือว่าเป็นการตั้งพรรคตามกติกาและรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่ใช่ความผิด
“การที่ ทษช.ส่งผู้สมัคร ส.ส.ลงบางที่ ถามว่าพื้นที่ที่สู้ไม่ไหว จะส่งไปทำไม เพราะเสียเงินเปล่า รวมถึงพรรคเพื่อไทยด้วย ทั้งหมดก็เป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญที่ร่างไว้เช่นนั้น” รศ.ดร.กิตติ กล่าว